ทำเนียบฯ 24 ก.พ.-ครม.อนุมัติโครงการตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย 2562 วงเงิน 3,120.86 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 วงเงิน 3,120.86 ล้านบาท เป็นการดูแลเกษตรกรต่อเนื่องหลังจากรัฐบาลได้เยียวยาเกษตรกรทั้งหมด 538,316 ราย ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วง 19 จังหวัด และอุทกภัย 30 จังหวัด งบประมาณโครงการเป็นการถัวจ่ายงบประมาณระหว่างโครงการภายใต้กรอบวงเงิน 3,120.86 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี 2562 จำนวน 2,967.50 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว 152.31 ล้านบาท และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 1.05 ล้านบาท
น.ส.รัชดา กล่าวว่า โดยสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อเพื่อฟื้นฟูเกษตรกร คือ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร วงเงิน 347.52 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งเป้ามีเกษตรกรเข้าร่วม 150,000 ครัวเรือน พื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกร เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ตามพื้นที่ปลูกจริง แบ่งเป็น 1.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 100,000 ครัวเรือน รายละไม่เกิน 20 ไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท (ครัวเรือนละ 4,900 บาท) พื้นที่รวม 1 ล้านไร่ 2.ถั่วเขียว เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย รายละไม่เกิน 20 ไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท (ครัวเรือนละ 4,000 บาท) พื้นที่รวม 4 แสนไร่ สำหรับโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64 วงเงิน 1.739.43 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมการข้าว ตั้งเป้ามีเกษตรกรเข้าร่วม 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน พื้นที่รวม 6.32 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 10 กิโลกรัม ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบให้กรมการข้าวปรับเปลี่ยนปริมาณของเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดข้าวและปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวของแหล่งผลิต (กรมการข้าว สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และศูนย์ข้าวชุมชนและแปลงใหญ่) ให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรและตามความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและปริมาณที่จะสนับสนุนของแต่ละแหล่งผลิต และโครงการพัฒนาทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน วงเงิน 260 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมประมง ตั้งเป้ามีเกษตรเข้าร่วม 50,000 ราย โดยสนับสนุนพันธุ์ปลานิล ขนาดประมาณ 5-7 เซ็นติเมตรขึ้นไป รายละ 800 ตัว และอาหารสัตว์น้ำนำร่อง จำนวน 120 กิโลกรัม ให้แก่เกษตรกร และโครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน วงเงิน 506.91 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมประมง ตั้งเป้าแหล่งน้ำในชุมชน จำนวน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามนำไปปล่อยในแหล่งน้ำของชุมชน ขนาดลูกพันธุ์ประมาณ 5-7 เซ็นติเมตรขึ้นไป จำนวน 200,000 ตัวต่อแหล่งน้ำ รวมถึงโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก วงเงิน 240 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมปศุสัตว์ ตั้งเป้ามีเกษตรเข้าร่วม 48,000 ราย โดยสนับสนุนเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกร เพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว และไก่พื้นเมืองคละเพศ ครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมอาหารและค่าวัสดุ ครัวเรือนละ 4,850 บาท
น.ส.รัชดา กล่าวว่า คุณสมบัติของเกษตรกรและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ คือ 1.ให้เกษตรกรมีสิทธิ์เลือกได้ 1 โครงการเท่านั้น 2.เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสามารถเข้าร่วมโครงการ (ด้านพืช ประมง และปศุสัตว์) ด้านใดด้านหนึ่ง โดยไม่ต้องตรงกับด้านที่ได้รับความเสียหาย 3.กรณีโครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยโครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เลือกพืชได้มากกว่า 1 ชนิด และโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว เลือกพันธุ์ข้าวได้ 1 พันธุ์ คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว 4.กรณีโครงการพัฒนาทางเลือกอาชีพด้านประมง เกษตรกรต้องมีบ่อดินแลปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงปลา และ 5.กรณีโครงการเลี้ยงสัตว์ปีก เกษตรกรต้องมีโรงเรือนสัตว์ปีและลานปล่อยที่มีตาข่ายล้อมรอบป้องกันสัตว์พาหะ และอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 17 จังหวัด.-สำนักข่าวไทย