สิงคโปร์ 11 ก.พ.- คณะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้ออันดับต้น ๆ ของสิงคโปร์ชี้แจงตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และแนะนำให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเท อย่ากังวลข่าวเรื่องเชื้อแพร่ผ่านฝอยละอองขนาดเล็กหรือฆ่าสัตว์เลี้ยงทิ้งเพราะข่าวลือว่าเป็นพาหะ
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ทูเดย์ของสิงคโปร์รายงานว่า คณะผู้เชี่ยวชาญ 9 คน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญที่เคยพบว่าค้างคาวเป็นพาหะเชื้อไวรัสโคโรนา สาเหตุของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์สระบาดปี 2545-2546 มาก่อน ตั้งโต๊ะแถลงเมื่อวันจันทร์ถึงสิ่งที่ศึกษาพบหลังจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกในสิงคโปร์เมื่อเกือบสามสัปดาห์ก่อนว่า ช่วงที่ซาร์สระบาดมีการศึกษามากมายพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนานอกตัวคนจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงหากอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น คืออุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสและความชื้นสูงกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นสภาพอากาศของสิงคโปร์ในขณะนี้ แต่จะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นหากอยู่ในสภาพอากาศเย็นและแห้ง ซึ่งหมายถึงห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนปิดเครื่องปรับอากาศแล้วเปิดให้อากาศถ่ายเท
กรณีคณะกรรมการสุขภาพเซี่ยงไฮ้แถลงเมื่อวันเสาร์ว่า ฝอยละอองขนาดเล็กในอากาศอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ คนอาจติดเชื้อได้หากสูดฝอยละอองปนเปื้อนเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์เผยว่า ยังไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากนักจนกว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน สอดคล้องกับที่หนังสือพิมพ์ไชนาเดลีของจีนอ้างความเห็นของนักวิจัยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคจีนเมื่อวันอาทิตย์ว่า สาธารณชนยังไม่ควรตื่นตระหนกเพราะไม่มีหลักฐานว่าเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่ผ่านฝอยละอองขนาดเล็กในอากาศ
ส่วนที่มีข่าวลือว่าสัตว์เลี้ยงอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อจนเกิดภาพอนาถใจ เมื่อชาวจีนพากันโยนสัตว์เลี้ยงออกนอกอาคารพักอาศัยตกมาตายเกลื่อนถนน ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์เปรียบเทียบว่า หากสัตว์เลี้ยงเสี่ยงเป็นพาหะ ลูกหลานในบ้านก็เสี่ยงไม่ต่างกันเพราะเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ที่สำคัญยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยงเสี่ยงติดเชื้อ อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ว่า ต้นตอไวรัสมาจากไหน แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าไวรัสชนิดหนึ่งในค้างคาวมีความคล้ายคลึงถึงร้อยละ 96 กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่.-สำนักข่าวไทย