อสมท 1ก.พ.-“ปณิธาน” แจงไทยปิดประเทศหนีโคโรนาไม่ได้ เชื่อรัฐบาลทยอยคลอดมาตรการพิเศษควบคุม-แก้ปัญหาตื่นตะหนกไวรัส ย้ำคนรุ่นใหม่ 10 ล้านคนเป็นกุญแจทางรอดของประเทศ ด้าน “กรณ์” ยอมรับไทยต้องพึ่งพาการค้าจีน แนะรัฐบาลเร่งกระจายอำนาจ สร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี ขณะที่ทีดีอาร์ไอมั่นใจจีดีพีโต 2.8% มั่นใจไทยไม่เกิดวิกฤติ เศรษฐกิจยังเติบโตแบบช้า
ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บสส. รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาหัวข้อ How to รอด..รอดอย่างไรในสถานการณ์เศรษฐกิจร้อน การเมืองแรง โดยนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวการเสวนาตอนหนึ่งว่า ภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบการต่างก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงมากลำดับต้นๆ ของโลก ขณะที่กำลังซื้อของต่างประเทศลดต่ำลง ตนขอเสนอ 5 แนวทางต่อรัฐบาล
1 ต้องกระจายอำนาจ ในยุคอนาล็อกการบริหารแบบรวมศูนย์จากส่วนกลางอาจมีประสิทธิภาพ แต่ในยุคดิจิตอลจำเป็นต้องกระจายอำนาจเพื่อขยายโอกาสให้ท้องถิ่นได้บริหารตัวเอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
2 รัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติเน้นสร้างให้โอกาสประชาชนและผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ
3 เปลี่ยนนโยบายการคลังมาสนใจด้านการค้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาคเอกชนอ่อนแอ จนเป็นสาเหตุให้เงินบาทแข็งค่า รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชน
4 รัฐบาลต้องส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงงบประมาณของรัฐ ที่ผ่านมารัฐบาลทำงบประมาขาดดุลกู้ยืมเงิน 3 แสนล้านมาใช้ในโยบาลรัฐเป็นหลัก
5 การกำหนดนโยบายของรัฐต้องมีประชาชนเป็นเป้าหมายมากขึ้น
สำหรับคำถามว่า ควรจะปิดประเทศป้องกันไวรัสโคโรนาหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ต้องระวังการเสพสื่อ รัฐบาลเองก็ต้องระวังคำตอบ โดยประเมินความเสี่ยงและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอ เพื่อตอบว่าต้องรอให้สถานการณ์เข้มข้นถึงระดับใด จึงจะยกระดับมาตรการ เพราะรัสเซีย สิงคโปร์ ก็ปิดประเทศไม่รับคนจีนแล้ว ถึงอย่างไรไทยก็ต้องพึ่งพาการค้าจากประเทศจีน โดยเฉพาะกำลังซื้อจากประชากรจีนที่มากกว่าพันล้าน
ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเมืองระหว่างประเทศเป็นระบบหลากหลายขั้วอำนาจ ทำให้เกิดการแปรปรวนจากสงครามการค้า การแข่งขัน และความไม่แน่นอน แต่เสถียรภาพยังพอไปได้ สงครามโลกครั้งที่ 3 จะยังไม่เกิดขึ้น ไทยได้ประโยชน์จากความแปรปรวนเพราะเราไม่มีศัตรู แต่เป็นมิตรกับทุกประเทศ การเติบใหญ่ของจีนและการเชื่อมต่อกับ 122 ประเทศ ทำให้ไม่มีใครสู้จีนได้ ขณะที่การเติบใหญ่ของจีนคือความเติบใหญ่ของไทย ขณะเดียวกันไทยก็ต้องระมัดระวังการวางตัว รักษาระดับความสัมพันธ์ไม่เข้ากับประเทศหนึ่งประเทศใดจนกระทบต่อความเป็นมิตรกับอีกประเทศหนึ่ง ขณะที่ความซับซ้อนของความมั่นคงสมัยใหม่ เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่น ไวรัส ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ซึ่งหลายประเทศไม่รอด แต่เราวางแผนมาดีว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ไทยควรจะปิดประเทศป้องกันไวรัสโคโรนาหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า ปิดประเทศไม่ได้แน่นอน และประเทศไทยก็ไม่เคยปิด แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้บอกให้ปิด ประเทศ ต้องยอมรับว่าไทยเชื่อมโยงกับจีนอยู่ระดับพิเศษมาก จึงต้องมีขั้นตอนและกระบวนการพิเศษ รวมถึงแนวทางพิเศษในการบริหารทุกมาตรการ ขณะเดียวกันเรายังได้เพิ่มความร่วมมือในด้านแลกเลี่ยนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยนักวิทยาศาสตร์ไทยส่งข้อมูลไวรัสไปให้จีนในทันทีที่ตรวจสอบพบ ส่วนปัญหาในประเทศยังต้องแก้ปัญหาความตื่นตระหนกและสร้างความเข้าใจ ปัจจุบันประชาชนทุกคนต่างเป็นศูนย์กลางในการให้ข่าวและแก้ข่าวกันเอง ทั้งนี้ยอมรับว่าไวรัสโคโรนาเป็นปัญหาใหม่เชื่อว่าเมื่อตั้งหลักได้เราจะเห็นแนวทางในการควบคุมและแก้ปัญหาอีกจำนวนมาก
สำหรับทางรอดจากสถานการณ์เศรษฐกิจร้อน การเมืองแรง นายปณิธาน กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอดังนี้
1 ไทยต้องหาสมดุลทางยุทธศาสตร์ให้ดีที่สุด 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศบนเวทีการประชุมในสิงคโปร์ว่า ไทยจะไม่ทะเลาะกับใคร
2 ยอมพบกันครึ่งทาง ให้เกียรติ ให้ประโยชน์ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องทำให้ประเทศเพื่อนบ้านใน 3 ลุ่มน้ำ เจริญเติบโตไปด้วยกัน
3 ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะเป็นปัญหาของทุกปี เราต้องลดการเผาไหม้ให้ได้ จะเปลี่ยนพลังงานทางเลือกอย่างไร
4 ในอนาคตประเทศอินเดียกำลังจะมา ธุรกิจเอสเอ็มอีเตรียมปรับตัวอย่างไร
“ทางรอดของไทยคือคนรุ่นใหม่ ตั้งพรรคการเมืองก็ชนะพรรคของคุณกรณ์ไปแล้ว ค้าขายออนไลน์ก็ทำกำไร ทางรอดของประเทศกุญแจสำคัญจึงอยู่ที่คนรุ่นใหม่ 10 ล้านคนที่ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองอยู่ในขณะนี้ ถ้าพวกเขาออกมาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเรารอดแน่นอน โดยทางรอดของประเทศไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง แต่อยู่ที่ท้องถิ่นทั่วประเทศ” นายปณิธานกล่าว
ขณะที่นายชัยยงค์ สัจจิพานนท์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี กล่าวว่า ปลายปีนี้สหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี สถานการณ์ความไม่แน่นอนความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจเบาบางลง ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับสหรัฐฯและจีน เราจึงต้องสร้างสมดุล อยู่ตรงกลาง ไม่ทำให้ถูกมองว่าเรายืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ต้องทำในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน จำกัดขอบเขตเป็นเรื่องๆ และหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจนำไปสู่การเข้าใจผิด โดยการทูตต้องเป็นเรื่องที่จับต้องได้ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยก้าวหน้ามาก และได้รับความชื่นชมในระดับโลก
ทางด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเดือนม.ค.เคยประมาณการจีดีพีที่ 2.5-3% แต่เมื่อมีสถานการณ์ไวรัสโคโรนา คงต้องประเมินตัวเลขใหม่อีกครั้ง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงแรกของปีอาจจะตกลงไปบ้าง แต่ถ้าเราทำให้ไทยมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการดูแลสุขภาพ จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทย เรื่องการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ พบแนวโน้มนักลงทุนจากจีนและไต้หวันจะย้ายมาสร้างโรงงานในไทยและเวียดนาม ซึ่งจะเป็นจุดบวกของไทย ในภาพรวมปีนี้ยังมั่นใจว่า จีดีพีจะไม่ต่ำกว่า 2.5% แม้งบประมาณจะล่าช้าไปแต่รัฐบาลมีนโยบายดีๆอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น การแก้ปัญหาภัยแล้ง ครม.เศรษฐกิจจะปรับลดภาษีน้ำมันเครื่องบินเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน จึงเสนอให้ทุกกระทรวงจัดสัมมนานอกกรุงเทพฯ เพื่อนำงบฯของภาครัฐไปกระตุ้นการท่องเที่ยว
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผอ.การวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปีนี้จะเป็นอักปีที่มีคามผันผวนมาก จากภาวะความตึงเครียดอิหร่าน-สหรัฐ สงครามการค้า และโคโรนาไวรัส การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นบวก สบายใจได้ว่าไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่าที่หลายฝ่ายเป็นห่วง ในไทยก็จะไม่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงถึง 5% เพราะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามานาน แก้ไม่ตก เจอไวรัสโคโรนาเข้าไปบาทอ่อนทันที เท่ากับว่าในข่าวร้ายมีข่าวดี เศรษฐกิจไทยที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจะโต 2.8% หากนักท่องเที่ยวลดลง รวมถึงปัญหาภัยแล้ง จีดีพีจะโตลดลงเหลือ 2% งบประมาณผ่านช้าอาจล่าไปถึงเดือนมิ.ย.ทำให้เศรษฐกิจโตช้ากว่า 2% ความผันผวนในเศรษฐกิจโลกยังมีอีกหลายปัจจัย ดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในขาลง แต่มั่นใจว่าไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเพียงแต่จะเติบโตช้า.-สำนักข่าวไทย