กรุงเทพฯ 30 ม.ค. – ขุนคลังขับเคลื่อนมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.รวม 60,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ 142,000 ราย ช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่สระบบเศรษฐกิจถึง 180,000 ล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” ระหว่างบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. กับ 18 สถาบันการเงิน ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนผ่านการช่วยค้ำประกันของสินเชื่อ บสย. 60,000 ล้านบาท โดย บสย.ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก ซึ่งเป็นกลไกรัฐบาลใช้การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ช่วยเติมทุนให้เอสเอ็มอี สามารถเข้าสู่ระบบสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ โดยมาตรการนี้จะช่วยผู้ประกอบการได้ 142,000 ราย และช่วยให้มีเงินทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายลงทุนขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีถึง 180,000 ล้านบาท
สำหรับมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายช่วยเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจให้เดินต่อไปได้ และนับเป็นการปลดล็อคครั้งใหญ่ ด้วยการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ บสย.ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ได้แก่ การรับความเสียหายเพิ่มจากร้อยละ 30 เพิ่มเป็นร้อยละ 40 เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างสบายใจและเสริมสภาพคล่องให้กับต่อลมหายใจให้ธุรกิจได้
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะตอกย้ำความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจให้กับเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีล็อตแรกกว่า 10,000 รายเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการช่วยเอสเอ็มอีที่มีปัญหาผ่อนชำระหนี้ หรืออาจกำลังจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขยายระยะเวลา ได้เงินทุน ต่อลมหายใจธุรกิจ หรือกลุ่มที่มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ หรือกิจการที่กำลังต้องการเสริมสภาพคล่อง โดย บสย.และธนาคารพันธมิตรจะช่วยให้คนกลุ่มนี้เดินหน้าได้ต่อไป
นายรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอสเอ็มอีกลุ่มที่กำลังจะถึงทางตัน ชำระล่าช้า หรือกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ บสย. และ 18 สถาบันการเงิน จะช่วยเอสเอ็มอีเปลี่ยนจากการฟ้องมาเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีอีกหลายหมื่นรายสนใจเข้าร่วมโครงการฯ สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะ 5-7 บสย.ได้ขยายเวลาการค้ำประกันออกไปอีก 5 ปี เพื่อให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดย บสย.และธนาคารจะร่วมกันช่วย โดยการเข้าสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ร่วมโครงการเต็มจำนวนเป้าหมาย 28,000 ราย.-สำนักข่าวไทย