บันจูล 15 ม.ค.- รัฐบาลแกมเบียเผยว่า ศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก จะมีคำชี้ขาดในวันที่ 23 มกราคมว่า จะต้องออกมาตรการฉุกเฉินกับเมียนมาเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาหรือไม่
กระทรวงยุติธรรมแกมเบีย ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ทวีตแจ้งวันนี้ หลังจากยื่นฟ้องเมียนมาต่อศาลโลกที่กรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี (OIC) แคนาดาและเนเธอร์แลนด์ แกมเบียกล่าวหาเมียนมาระหว่างให้การต่อศาลโลกเมื่อเดือนก่อนว่า ละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหประชาชาติปี 2491 และอ้างว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นอีกในเร็ว ๆ นี้ จึงขอให้ศาลโลกมีมาตรการฉุกเฉินเพื่อป้องกันไม่ให้เมียนมาทำความโหดร้ายใด ๆ อีกหรือทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เอเอฟพีระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการฉุกเฉินหมายถึงอะไร แต่การบังคับใช้จริงน่าจะเป็นเรื่องยาก และหากศาลโลกตัดสินตามคำร้องของแกมเบียก็จะเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกของกระบวนการที่คงจะกินเวลานานหลายปี ที่ผ่านมาศาลโลกเคยตัดสินว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพียงครั้งเดียวคือ เหตุสังหารหมู่ที่เมืองสซเรเบนิซาในบอสเนียปี 2538
ประมาณกันว่า ยังคงมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมาราว 600,000 คน นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมาวัย 74 ปียอมรับระหว่างให้การแก้ต่างที่ศาลโลกว่า กองทัพอาจใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับชาวโรฮิงญา แต่การฟ้องครั้งนี้อ้างอิงคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดและไม่สมบูรณ์ จึงขอให้ศาลโลกไม่รับพิจารณา และว่าการฟ้องครั้งนี้อาจจุดชนวนวิกฤตชาวโรฮิงญาขึ้นอีกครั้ง.- สำนักข่าวไทย