กรุงเทพฯ 14 ม.ค.-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 62 พบปัญหาโฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะด้านอาหาร-ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังเป็นปัญหามากที่สุด
วันนี้ (14ม.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2562 ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั้งหมดจำนวน 4,182 ราย แบ่งออกเป็น 7 ด้าน 1.ด้านการ เงินการธนาคาร 2.ด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 3.ด้านบริการสาธารณะ 4.ด้านสินค้าและบริการทั่วไป 5.ด้านสื่อและโทรคมนาคม 6.ด้านที่อยู่อาศัย และ 7.ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข
โดยปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและได้ร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,534 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมาคือด้านบริการสาธารณะมีผู้ร้องเรียน 820 ราย และอันดับ3 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข มีผู้ร้องเรียน 703 ราย
สำหรับปัญหาที่พบในด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิม คือการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวงโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อได้ เช่น ใช้แล้วผิวขาวกระจ่างใสภายใน 5 นาที หรือภายใน 3–7วัน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ หรือในยารักษาโรคที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ 108 โรค และเนื่องจากโฆษณาดังกล่าวมักโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ทำให้บุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อคือกลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชน ขณะเดียวกันวิธีโฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมผ่านรถเร่ขายของในชุมชน ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่พบว่า มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ฉลากได้ถูกสั่งยกเลิกไปแล้วแต่ยังพบว่ามีขายในรถเร่นั้นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามผู้ร้องเรียนและศูนย์ร้องเรียนที่เฝ้าระวัง ได้แจ้งเรื่องถึงผู้ประ กอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งก็ใช้ระยะเวลายาวนาน อีกทั้งผลิตภัณฑ์บางชนิดที่พบปัญหาในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกนำออกจากตลาดร้านค้าแต่อย่างใด
ส่วนด้านบริการสาธารณะ พบว่า รถรับส่งนักเรียนเป็นกลุ่มที่พบปัญหามากสุด โดยพบปัญหาที่เจ้าของรถรับส่งนักเรียนใช้รถผิดประเภท เช่น ใช้รถสองแถวที่ไม่ได้มีป้ายที่ระบุว่าเป็นรถรับส่งนักเรียน รถไม่ได้มาตรฐานหรือเบาะนั่งไม่ได้มาตรฐาน รองลงมาเป็นกลุ่มรถสาธารณะ อาทิ รถตู้โดยสาร หรือรถทัวร์โดยสาร พบปัญหา เรื่องพนักงานขับรถมีพฤติกรรม ไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ พูดจาไม่สุภาพ ใช้โทรศัพท์โดยไม่ใช้หูฟัง
สมอลทอล์ก หรือการขับรถเร็ว
นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องสายการบินล่าช้าอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมายังมีประเด็นเรื่อง ‘การขึ้นราคาค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข(ดอนเมือง – โทลล์เวย์)’ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.62 เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมาก อีกทั้ง มพบ. ยังได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาถึงที่สุดให้หยุดขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือ การต่ออายุสัญญาสัมปทานให้ BEM ไปอีก 15 ปี 8 เดือน ที่ตอนนี้กำลังมีรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้พิจารณาภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
สุดท้าย คือด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข ซึ่งเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้คำปรึกษา การย้ายสิทธิหรือการสอบถามสิทธิประโยชน์ ซึ่งผู้บริโภคในต่างจังหวัดมักมีการขอคำปรึกษามากสุด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่อาจไม่สามารถรับข่าวสารได้เพียงพอหรือเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงมากเท่า ที่ควร จึงอาจทำให้การรับข่าวสารจากหน่วยงานได้ไม่ครบ หรือไม่ได้รับเลย ดังนั้นการลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องสิทธิกับผู้บริโภคในชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก .-สำนักข่าวไทย