สนพ. 7 ม.ค. – จับตาบอร์ด กพช.เดือน กพ.นี้ ขีดเส้นศึกษากรอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีเสรี ด้านบีกริม หวัง ปตท. ลดราคาก๊าซฯจะได้ไม่ต้องนำเข้าเอง ส่วนโรงไฟฟ้าผลิตเองใช้เอง หรือไอพีเอสยอดพุ่งกว่า9 พันเมกะวัตต์แล้ว กดดันยอดใช้ก๊าซไม่โต
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน( สนพ.) เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าเพื่อใข้เองของเอกชนหรือไอพีเอสสูงปี 62ถึง 9 พันเมกะวัตต์แล้ว และคาดว่าปี 63 จะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำที่เอกชนมีการติดตั้งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนลดลง โดยจะเห็นได้ว่า โซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมูลได้นั้นอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท/เมกะวัตต์ เท่านั้น ซึ่งการที่ไอพีเอสเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลทำให้การใช้ไฟฟ้าของ3การไฟฟ้าลดลงจากประมาณการณ์ของแผน และส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติขยายตัวลดลงจากแผนด้วย โดยในปี2562 การใช้ก๊าซฯขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 มียอดใช้ 5,034 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ การใช้ก๊าซฯในอนาคต ต้องนำมาใช้ในการปรับแผนก๊าซ (GAS PLAN ) ตาม 5 แผนพลังงานของประเทศ และประกอบกับแผนการส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของประเทศ ซึ่งจะต้องกำหนดโครงสร้างราคานำเข้าแอลเอ็นจี โดยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดย ที่ประชุม กพช.คงจะสั่งการให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งศึกษาโครงสร้างราคาก๊าซ โดยเร็ว ซึ่งจะผู้นำเข้าใหม่ทุกรายจะนำมาอยู่ในราคาตลาดรวม ( Pool Gas ) หรือไม่ คงจะต้องรอมติ กพช.
สนพ.คาดว่าปี 2563 ประเทศไทยจะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 37,437 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 ในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่าระดับความร้อนจะอยู่ระดับ 38 องศาเซลเซียส แต่หากพิจารณาเพียงความต้องการใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) จะพบว่าพีคไฟฟ้าจะอยู่ระดับ 32,732 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ1.4 เมื่อเทียบกับปี 2562
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีสำรองไฟฟ้าอยู่จำนวนมากถึงร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตติดตั้ง ทางกระทรวงพลังงานจึงกำหนดนโยบายให้ ศึกษาว่าจะนำส่วนนี้ไปลดค่าไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) และรถไฟฟ้าระบบรางได้อย่างไร ซึ่งกรณีระบบรางได้กำหนดไว้ว่าหากลดค่าไฟฟ้าจะต้องลดค่าโดยสารให้ประชาชนด้วย
ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวถึง ความคืบหน้าการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯกับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าเอสพีพีนั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณเดือน พ.ค.นี้ หาก ปตท.ปรับลดราคาลงมาได้ บีกริมก็คงซื้อจาก ปตท. ไม่ต้องนำเข้าเอง โดยผู้ขายแอลเอ็นจีตลาดโลกหลายรายพร้อมขายในสัญญาระยะยาวในราคาต่ำ
“ตอนนี้ LNG เป็นตลาดของผู้ซื้อ มีผู้มาเสนอขาย ให้บีกริมในราคา Long Term 10 ปี ในราคา 7-8 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาก๊าซที่ ปตท.เสนอขายอยู่ที่ประมาณ 270 – 280 บาทต่อล้านบีทียู หรือราว 9 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่ง ราคาก๊าซที่ถูกลงทุกร้อยละ 1 ก็จะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของบริษัทลดลงได้มาก เพราะต้นทุนก๊าซคิดเป็นราวร้อยละ 70ของต้นทุนทั้งหมด” นางปรียนาถ กล่าว . – สำนักข่าวไทย