กรุงเทพฯ 10 ธ.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 63 เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการร้อยละ 0.3 “ร้านอาหาร-ค้าปลีกค้าส่ง-ก่อสร้าง-เกษตร” กระทบหนักสุด
ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศปี 2563 อีก 5-6 บาท มาอยู่ในช่วง 313-336 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 321.09 บาทต่อวัน) จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน) ในช่วงปี 2561-2562 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปี 2562 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่าผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 ต่อต้นทุนรวมของสถานประกอบการขนาดต่าง ๆ พบว่า หากค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นร้อยละ 1.6 จะทำให้ต้นทุนรวมของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2563 โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ก่อสร้าง และภาคเกษตรกรรม
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด โดยผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.05 จากประมาณการพื้นฐาน โดยผลที่จำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางด้านราคาที่สูงขึ้นกับร้านค้าอี-คอมเมิร์ซ การชะลอตัวของเศรษฐกิจปัจจุบันที่ทำให้การส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าแต่ละประเภทของผู้บริโภค รวมถึงการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 ที่ร้อยละ 0.7 โดยรวมผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2563 ไว้ด้วยแล้ว
อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจ คือ การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นต้นทุนทางด้านแรงงานของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางส่วนสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคผ่านระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วนผู้ประกอบการต้องรับภาระไว้เอง ซึ่งในบางรายจะเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าหากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 1.6 จะส่งผลสุทธิทางลบประมาณร้อยละ 0.01 ต่อจีดีพีไทยในปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ยาก ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไว้เอง ซึ่งอาจจะกระทบขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี.-สำนักข่าวไทย