กรุงเทพฯ 5 ธ.ค. – ที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก มีโครงการสร้างจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณพระระเบียงวัดพระราม 9 เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ มีความคืบหน้าของงานจิตรกรรม ซึ่งวัดพระราม 9 ยังเป็นวัดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้น และสะท้อนปรัชญาการทำงานของพระองค์เรื่องความพอเพียงอย่างชัดเจน
จิตรกรบรรจงลงสีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ บนผนังของพระระเบียง ภายในวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก บนผนังความยาวประมาณ 50 เมตร สูง 2.2 เมตร
จิตรกรผู้ออกแบบภาพจิตรกรรมในงานครั้งนี้ เล่าว่า มีการออกแบบทั้งหมด 65 ตอน เรื่องราวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พระราชประวัติ พระราชพิธีที่เกี่ยวข้อง และส่วนพระราชกรณียกิจครบทั้ง 4 ภาค ใช้เวลาเขียนภาพต้นแบบนาน 2 ปี เพื่อเก็บรายละเอียดภาพให้สมบูรณ์ที่สุด ใช้เทคนิคสมัยใหม่ในการพิมพ์ภาพลงบนผ้าใบแคนวาส จากนั้นมาผนึกกับผนัง ก่อนลงด้วยสีอะคริลิก ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนลงสีภาพโดยรวม ขณะนี้จะต้องมีการเก็บรายละเอียด เน้นสี เงา บางจุดจะปิดทองคำเปลว เพื่อความประณีต สวยงาม ตามกำหนดจะแล้วเสร็จต้นปี 2564
จิตรกรผู้ออกแบบ ยังเล่าว่า โครงการภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงวัดพระราม 9 เป็นงานลักษณะภาพเขียนเสมือนจริงแบบสมัยใหม่ แต่ใช้การตัดเส้นแบบไทยที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของวัดพระราม 9
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก สร้างขึ้นในปี 2539 จากผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินก่อสร้าง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดขนาดเล็ก เพื่อเป็นแบบอย่างความพอเพียง เป็นตัวอย่างในการประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน-วัด-โรงเรียน หรือเรียกว่า สามประสาน ตามหลักการ “บวร”
พระอุโบสถขนาดย่อมสีขาว หรือที่เรียกกันว่า โบสถ์พอเพียง มีรูปแบบแตกต่างจากวัดทั่วไป องค์ประกอบเครื่องบนหลังคา ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้น มีตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ภายในประดิษฐานพระประธานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยได้ทรงแก้ไขแบบด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันวัดพระราม 9 ยังคงดำเนินงานตามเจตนารมณ์แรกของการก่อตั้งตามแนวพระราชดำริ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าเรื่องก่อนการก่อสร้างวัดพระราม 9 ว่า เดิมมีการตั้งงบประมาณสร้างไว้ 130 ล้านบาท แต่เมื่อครั้งไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรายงานแผนการดำเนินงานให้พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำดินสอขึ้นมา และรับสั่งว่า ขอตัดเลขศูนย์ออกไป จาก 130 ล้านบาท เหลือเพียง 13 ล้านบาท พระองค์ทรงมีรับสั่งว่า การเป็นศูนย์รวมจิตใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด ต้องการวัดเล็กๆ เรียบง่ายที่สุดเท่าที่ทำได้ จะได้ไม่เป็นภาระของสงฆ์ ให้โรงเรียนและวัดดำเนินการร่วมกัน และเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ. – สำนักข่าวไทย