รัฐสภา 18 พ.ย.-ส.ว.ตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาเรื่องการขยายอายุเกษียณราชการ 70 ปีบริบูรณ์ ด้าน “วิษณุ” ยืนยันข่าวมติ ครม.ให้ข้าราชการเกษียณอายุได้ถึง 70 ปีบริบูรณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่เป็นความจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (18 พ.ย.) มี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามด้วยวาจา นายอำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการขยายอายุเกษียณราชการ หลังมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ให้ข้าราชการเกษียณอายุ ได้ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยสอบถามถึงข้อเท็จจริงของมติดังกล่าว รวมทั้งแสดงความกังวลหากมีการขยายอายุราชการตามแผนปฏิรูปประเทศรองรับระบบสังคมผู้สูงวัย ใช้วิธีการขยายอายุราชการทั้งระบบเป็นขั้นบันไดในระยะเวลา 6 ปี จากอายุ 60 ปี ถึงอายุ 63 ปี จะส่งผลกระทบทำให้จำนวนข้าราชการใหม่ลดลง จึงต้องการทราบว่ารัฐบาลได้ศึกษาทางเลือกอื่นนอกจากการขยายอายุราชการหรือไม่
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ต้อบกระทู้ถาม ชี้แจงว่า ข่าวที่ปรากฏ ไม่เป็นความจริง และมีการทำความเข้าใจต่อสังคมไปแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนของข้าราชการพลเรือนไม่รวมข้าราชการหน่วยงานอื่น เป็นไปตามกฎหมายเก่า คือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ปี 2551 มาตรา 108 ที่บัญญัติไว้ว่า แม้ข้าราชการพลเรือนจะมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ทักษะพิเศษที่ไม่ใช่ตำแหน่งผู้บริหาร หากมีความจำเป็นสามารถต่ออายุราชการได้ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีการต่ออายุ 3 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 4 ปี ครั้งที่สองไม่เกิน 3 ปี และครั้งที่สามไม่เกิน 3 ปี
นายวิษณุ กล่าวว่า โดยตามกฎหมายมีการอนุญาตให้ต่ออายุราชการได้ใน 36 ตำแหน่ง ขณะที่การขยายอายุราชการถึง 63 ปี ทั้งระบบสืบเนื่องจากแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่ประกาศใช้เมื่อปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ทำการศึกษาแนวทางดังกล่าวนำร่องให้ข้าราชการพลเรือนสามารถต่ออายุราชการได้ แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ เช่น ไม่ใช่ข้าราชการระดับบริหาร ส่วนข้าราชการอื่น ๆ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกเป็นกฎหมายได้ต้องใช้เวลานานเป็นปี
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการจ้างงานหลังเกษียณ ว่า ปัจจุบันรัฐบาลดำเนินการอยู่แล้วในบางหน่วยงาน อยู่ในรูปแบบพนักงานราชการที่มีอายุ 1 ปี โดยหลังจากนี้จะมอบหมายให้ ก.พ.ไปศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย