สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 6 พ.ย.- “ไพบูลย์” ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจ กมธ.ออกคำสั่งเรียก “ประยุทธ์ – ประวิตร” ชี้แจงได้หรือไม่ ชี้รัฐธรรมนูญ 60 ไม่เปิดช่องให้ออกคำสั่งเรียกได้ แจงไม่ได้ทำเพื่อช่วยนายกฯ แต่หวั่น กมธ.ทำผิดกฎหมาย
สำนักงานผู้ตรวจฯ เวลา 11.00 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของ สส.และส.ว. พ.ศ. 2554 มาตรา 5 ,8 และ 13 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 เนื่องจากเห็นว่าเดิมรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 135 ได้บัญญัติให้คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจออกคำสั่งเรียกและคำสั่งเรียกมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ยกเลิกอำนาจของคณะกรรมาธิการฯ ในการออกคำสั่งเรียกและยกเลิกการให้คำสั่งเรียกมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงมีอำนาจเพียงเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาชี้แจง แต่ไม่ใช่การออกคำสั่งเรียก
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ดังนั้นการที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. จะออกคำสั่งเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงนั้น หากกระทำจริงจะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231(1) เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณี พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเหตุขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 129 จึงใช้บังคับไม่ได้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจฯในวันนี้แล้วจะนำสำเนาหนังสือที่ยื่นและหนังสือตอบรับไปยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานผู้แทนราษฎร พรุ่งนี้ (7 พ.ย.) เวลา 10.30 น. เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำไปเตือนประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. และประธานกรรมาธิการฯชุดต่าง ๆ ว่าให้ระงับการดำเนินการออกคำสั่งเรียกบุคคลมาชี้แจง ที่ตนเห็นว่าต้องนำเรื่องดังกล่าวมายื่นให้ผู้ตรวจฯ เพราะปัจจุบันอำนาจในการเชิญบุคคลหรือเรียกบุคคลมาชี้แจงของรัฐธรรมนูญเก่าและใหม่ต่างกัน ซึ่งการเรียกบุคคลมาชี้แจงของกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีผลบังคับแต่เป็นลักษณะการขอความร่วมมือจากบุคคลนั้นที่จะมาชี้แจงเองหรือส่งเอกสารชี้แจง
เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจฯ พิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการปกป้องนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า การยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจฯ เป็นการดำเนินการด้วยความเป็นห่วงว่ากรรมาธิการฯจะกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย อยากให้ทุกฝ่ายทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่อยากเห็นผู้ใดถูกดำเนินคดี.-สำนักข่าวไทย