กทม. 19 ต.ค. – การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ตุลาคมนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีการนำมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 เข้าพิจารณาชี้ขาด ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เรื่องนี้จะลงเอยในรูปแบบไหนได้บ้าง และจะส่งผลกระทบอย่างไร ติดตามจากรายงาน
หลายฝ่ายจับตาการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ หลังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาระบุว่าได้ลงนามมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย ที่ให้แบน 3 สารเคมี คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ให้มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้
ในหนังสือระบุว่า ก.เกษตรฯ ตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องนี้ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีภายใน 60 วัน และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทำหนังสือแจ้งมติคณะทำงานให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณานำเสนอคณะกรรมการฯ ว่าจะมีมติอย่างไร
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรปลูกพืชอุตสาหกรรม ค้านมติ 4 ฝ่าย ระบุว่าขาดความชอบธรรม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกรรมการที่คัดค้านการใช้สารเคมี ไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก ไม่มีตัวแทนผู้นำเข้าครบถ้วน และเตรียมยื่นศาลปกครองขอคุ้มครองฉุกเฉิน หากกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด
อาจารย์บ้วน หรือ ทิดบ้วน บางปลาม้า นักวิชาการด้านการเกษตร ให้สัมภาษณ์ว่า มองเห็นเค้าลางความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เนื่องจากยังไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน ทั้งสตอกสารทั้ง 3 ชนิดที่ยังมีอยู่ เมื่อพ้นกำหนด 1 ธันวาคมนี้ ทั้งหมดจะกลายเป็นของผิดกฎหมาย ต้องทำลายทิ้ง ดังนั้นต้องมีมาตรฐานการควบคุมที่ถูกต้องและปลอดภัย อาจต้องจ่ายชดเชยให้บริษัทผู้นำเข้าหรือไม่ รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวิธีการหรือสารกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นที่จะนำมาใช้ทดแทน แม้จะมีการพูดถึงเกษตรอินทรีย์ แต่ควรให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกร เพราะหากไม่มีความรู้ ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายพืชเช่นกัน ทุกสิ่งล้วนต้องใช้งบประมาณไม่น้อย ขณะที่งานวิจัยเรื่องการตกค้างของสารพิษยังมีความไม่ชัดเจน แนะควรใช้มาตรการลด ละ เลิก จำเป็นต้องให้เวลาในการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของภาครัฐ ผู้นำเข้า และเกษตรกร
ขณะที่ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย มองว่า 22 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายควรยกเลิกสารทั้งสองชนิดทันที คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส แต่อาจขยายเวลาแบนสารไกลโฟเซตออกไป และต้องมีมาตรการลดผลกระทบให้เกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ยังต้องดูแลเกษตรกรกว่า 500,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนการใช้ 3 สารนี้อย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตรไว้แล้ว และไม่เห็นด้วยหากนำสารเคมีชนิดอื่นมาใช้ทดแทน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอาจมีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งรัฐควรเข้ามารับภาระ
หากวันที่ 22 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะทำให้ตั้งแต่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป สตอกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่มีอยู่กว่า 40,000 ตัน ในจำนวนนี้อยู่ในมือเกษตรกว่า 10,000 ตัน จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และต้องใช้งบประมาณดำเนินการกำจัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณที่ใช้อบรมเกษตรกรไปแล้วกว่า 500,000 คน เพื่อขึ้นทะเบียนใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ก็จะสูญเปล่าทันที. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• จ่อฟ้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองฉุกเฉิน ระงับแบน 3 สาร
• “มนัญญา” ไม่หนักใจลงมติแบนสารเคมี 22 ต.ค.นี้
• “อนุทิน” ไม่เห็นด้วยให้นายกฯ ออก พ.ร.ก.ห้ามใช้สารเคมีเกษตร