รัฐสภา 9 ต.ค.- “ปิยบุตร”โต้ “สิระ” ในที่ประชุม กมธ.การกฎหมายฯ สภา ระบุยังไม่มีมติเชิญ “พล.ต.บุรินทร์” มาชี้แจงต่อ กมธ.กรณีแจ้งความแกนนำ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เป็นประธาน กมธ. ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม มีการหารือระหว่างนายปิยบุตร และนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ฐานะรองประธาน กมธ. หลังกรณีที่นายสิระให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยที่นายปิยบุตรใช้อำนาจเรียก พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า สอบใน กมธ. หลังแจ้งความร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีข้อหาทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ของสมาชิก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน
นายสิระ กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า เหตุผลที่ตนให้ความเห็นผ่านสื่อมวลชนเพราะเป็นการตอบคำถามของสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่มีเจตนาแอบแฝงใด ๆ ทำให้นายปิยบุตร ชี้แจงว่า กรณีที่จะเชิญ พล.ต.บุรินทร์นั้น เป็นการได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มต่าง ๆ และยังไม่มีมติว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในช่วงใดของ กมธ.ฯ เพราะต้องสอบถามกับที่ประชุมอีกครั้ง
นายสิระ ได้กล่าวต่อที่ประชุมอีกว่า การทำงานของกมธ. ขอให้พิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเวลา และ ค่าตอบแทนที่มาจากเงินภาษีของประชาชน และให้ความสำคัญต่อการทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ใช่ทำเพื่อพรรรคการเมือง ขณะนี้พบว่าการพิจารณาของกมธ.ฯ มีแต่เรื่องของการเมือง การโดนละเมิดสิทธิ และเรื่องภาคใต้ ดังนั้นควรพิจารณาด้วยว่ามีประโยชน์กับฝ่ายใดหรือไม่ และควรพิจารณาเรื่องที่เกินกรอบ
ซึ่งนายปิยบุตร ชี้แจงยืนยันว่า การทำงานของกมธ. เป็นไปอย่างยุติธรรมและมีหลายเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณา การทำงานของกมธ.ไม่ใช่พรรคการเมือง ดังนั้นหากมีประเด็นร้องเรียนสามารถเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการประชุมของกมธ.การกฎหมายฯ ในวันที่ 9 ตุลาคม ที่ประชุมมีวาระพิจารณาการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ต่อพระสงฆ์ที่ไม่เป็นธรรม โดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องและตัวแทนพระสงฆ์เข้าชี้แจงรายละเอียด อาทิ นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย
นายนิยม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกินกว่ากระบวนการยุติธรรมปกติ แจ้งความดำเนินคดีกับพระสงฆ์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตงบประมาณของวัด หรือ คดีเงินทอนวัด โดยพระสงฆ์ไม่มีสิทธิต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นจึงขอให้กมธ.ฯ ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องจากฝ่ายรัฐมาชี้แจง และจะขอให้พระสงฆ์ที่ถูกจับดำเนินคดี ทั้ง 5 รูปมาชี้แจงกรณีดังกล่าวด้วย.-สำนักข่าวไทย