กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – “สุริยะ” ลุยญี่ปุ่น เผยรัฐมนตรีเมติญี่ปุ่น รับปากจะนำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นมาศึกษาความพร้อมและโอกาสลงทุนเร็ว ๆ นี้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น หรือเมติ ตอบตกลงที่จะนำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาความพร้อมและโอกาสลงทุนในประเทศไทยตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีเร็ว ๆ นี้ และพร้อมที่จะสนับสนุนผลักดันให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนด้านระบบอัตโนมัติ และระบบหุ่นยนต์ในประเทศไทย ทั้งนี้ ทางเมติระบุว่าโครงการอีอีซีจะเป็นแกนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปตามเป้าหมาย Thailand 4.0 รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินเข้าด้วยกัน ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่
นายสุริยะ ยังหารือกับนายโทโยนากะ อัตซิชิ ประธานองค์การสนับสนุนเอสเอ็มอีแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) ถึงแนวทางการพัฒนาเอสเอ็มอีร่วมกันกับไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และตกลงกันว่า กิจกรรมการเชื่อมโยงธุรกิจหรือ Business Matching ที่ผ่านมาก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนจากการจับคู่ธุรกิจกว่า 300 ล้านบาท ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันจะเพิ่มจำนวนการจับคู่ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมยังร่วมในพิธีลงนามเอ็มโอยูระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTECS) โดยนายทาเคชิ อุชิยามาดะ ประธาน JTECS และประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด นายฮาจิเมะ คูวาตะ ประธานร่วม JTECS เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอัตโนมัติ การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติในประเทศไทย และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทย รวมถึงการพัฒนา SI หรือ system integrator ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าการสร้างระบบ SI ให้เกิดขึ้น 1,400 ราย ภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยผลักดันให้การจัดตั้งสมาคม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาอันใกล้นี้ และทางญี่ปุ่นมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้กับโรงงานในประเทศไทย
นายสุริยะ ยังหารือกับนายอิชิซูกะ ฮิโรอากิ ประธานองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงานผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสาธิตการรีไซเคิลซากรถยนต์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม คัดแยกและรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่เป็นความร่วมมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และโครงการสาธิตการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์จากซากชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยทั้ง 2 โครงการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานจากการนำเอาชิ้นส่วน/วัตถุดิบจากการรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในระบบอุตสาหกรรม ทำให้มีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกันภายใต้นโยบาย BCG คือ Bio Economy , Circular Economy และGreen Industry เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้นโยบายการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย