21 กันยายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลไม่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มไวน์แดงเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ 6 ประการที่จะได้รับจากไวน์แดง ทั้งป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน เพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยในการนอนหลับ ลดความอ้วน และทำให้ผิวพรรณดูดี
บทสรุป :
นอกจากประโยชน์ของไวน์แดงต่อสุขภาพจะไม่ชัดเจนแล้ว ผลเสียจากการได้รับแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องยังเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ด้านการป้องกันโรคหัวใจ – ไม่ชัดเจน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Mayo Clinic ระบุว่าในไวน์แดงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) กำจัดไขมันเลว (LDL) ต้านการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
อย่างไรก็ดี ข้อดีของการดื่มไวน์แดงส่วนใหญ่มาจากการศึกษาแบบสังเกต (Observational Study) ที่อธิบายความสัมพันธ์มากกว่าหาสาเหตุของเรื่องที่ศึกษา ต่างจากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial) ที่ให้คำตอบที่ชัดเจนมากกว่าและมีอคติจากการวิจัยที่น้อยกว่า
ดร.เคนเนธ มูคามาล อายุรแพทย์จากศูนย์การแพทย์ Beth Israel Deaconess Medical Center มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประโยชน์ของไวน์แดงและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ต่อการป้องกันโรคหัวใจ มาจากผลวิจัยที่ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ
ป้องกันโรค – ไม่ชัดเจน
ข้อมูลจากสมาคมเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ระบุว่า ในไวน์แดงมีกรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและภาวะความไวต่ออินซูลินได้ดีขึ้น มีส่วนป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หากดื่มในปริมาณไม่มาก แต่การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน เช่นการใช้อินซูลินและยากระตุ้นการหลั่งอินซูลิน อาจเพิ่มความเสี่ยงจากภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
ระยะหลังมีการโฆษณาอาหารเสริมจากกรดเอลลาจิกว่ามีคุณสมบัติป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและโรคมะเร็ง ซึ่งภายหลังองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ออกคำสั่งห้ามการโฆษณาอาหารเสริมจากกรดเอลลาจิกว่ามีคุณสมบัติรักษามะเร็ง เนื่องจากไม่มีผลวิจัยยืนยันได้ว่ากรดเอลลาจิกสามารถป้องกันหรือรักษามะเร็งได้
นอนหลับดี – จริง/เท็จบางส่วน
สาเหตุที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้นอนหลับได้ง่าย เพราะฤทธิ์การกดประสาทของแอลกอฮอล์
แต่งานวิจัยที่ตีพิม์ทางวารสาร Handbook of Clinical Neurology เมื่อปี 2018 พบว่า การดื่มสุราในปริมาณมากและต่อเนื่องจะรบกวนวงจรการนอนหลับในเวลากลางคืน
แม้ความเมาจากสุราจะช่วยให้หลับในตอนแรก แต่เมื่อแอลกอฮอล์ผ่านกระบวนการสันดาปในร่างกาย จะเปลี่ยนเป็นสารกระตุ้นที่ขัดขวางการหลับลึก
งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีโรคติดสุราเรื้อรังจะมีปัญหาด้านการนอนเรื้อรังด้วย ซึ่งจะส่งผลแม้แต่ในช่วงที่หยุดดื่มสุราไปแล้ว และมีส่วนทำให้กลับมาติดสุราอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ ที่ทำให้การนอนในตอนกลางคืนขาดช่วงได้เช่นกัน
แก้หนาว – จริง/เท็จบางส่วน
งานวิจัยปี 2000 ที่ตีพิมพ์ทางวารสาร European Society of Cardiology พบว่าสารเอทานอล (Ethanol) ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้หลอดเลือดแดงที่ต้นแขนขยายตัว ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการหนาวบริเวณผิวหนัง
อย่างไรก็ดี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจไม่ใช่การคลายหนาวที่แท้จริง
งานวิจัยปี 1994 ที่ตีพิมพ์ทางวารสาร Journal of Wilderness Medicine พบว่า แอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถในการปรับตัวต่ออุณหภูมิในร่างกายลดลง และยับยั้งการสั่นของกล้ามเนื้อซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการสะสมความร้อนของร่างกาย
ลดความอ้วน – จริง/เท็จบางส่วน
มีความเชื่อผิด ๆ ว่าการดื่มไวน์ช่วยลดความอ้วน หลังมีการเผยแพร่งานวิจัยของ ดร. ลู่ หว่อง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ทางวารสาร Archives of Internal Medicine เมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นการสังเกตการลดน้ำหนักของผู้หญิงวัยกลางคนเป็นเวลา 13 ปี แล้วพบว่า ผู้หญิงที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีน้ำหนักเกิน 43% ส่วนผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 15-30 กรัมต่อวันมีน้ำหนักเกิน 33%
อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวไม่มีการแยกชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าผลเกิดจากการดื่มไวน์หรือไม่ และการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นช้ากว่าของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าการดื่มไวน์มีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักหรือไม่
ผิวหน้าดี – ไม่จริง
มีการอ้างว่า การดื่มไวน์จะทำให้ผู้ดื่มดูดี เพราะกล้ามเนื้อผิวหน้าจะผ่อนคลายและแก้มจะมีสีแดงอ่อน ๆ
แม้เป็นจริงที่ว่าแอลกอฮอล์จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายจากฤทธิ์ในการกดประสาท แต่อาการหน้าแดงหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แท้จริงแล้วคือปฏิกิริยาที่เรียกว่า Alcohol Flush Reaction
คนที่มีอาการหน้าแดงหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย เป็นสัญญาณของการเกิดอาการ Alcohol Flush Reaction ที่เกิดขึ้นเมื่อตับของคนผู้นั้นไม่มีเอนไซม์ ALDH2 ที่ช่วยในการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย นำไปสู่อาการ หน้าแดง คอแดง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เมาค้าง แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว บางรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวเอเชียตะวันออกมีอาการ Alcohol Flush Reaction บ่อยกว่าชาวตะวันตก
ความเสี่ยงโรคมะเร็ง
นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพจะไม่ชัดเจนแล้ว ผลเสียจากการได้รับแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องคือการเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าสารเอทานอล (Ethanol) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีศักยภาพเป็นสารก่อมะเร็ง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพแค่ไหน หรือมีราคาแพงเพียงใด ก็เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ร่างกายได้รับ
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีความเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีปริมาณน้ำในร่างกายน้อยกว่าผู้ชาย ทำให้การเจือจางแอลกอฮอล์ในร่างกายทำได้น้อยกว่า และทำให้แอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายได้นานกว่า เพิ่มความเสี่ยงการทำลายสมองและอวัยวะส่วนต่าง ๆ เพิ่มความเสี่ยงความดันเลือดสูงและโรคหลอดเลือดตีบตัน
ส่วนผู้ชายที่อายุมากว่า 65 ปี ก็มีคำแนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1 ดริ๊งก์ต่อวันเท่ากับผู้หญิง เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น การเผาผลาญแอลกอฮอล์จะทำได้ช้าลง ขณะที่ประโยชน์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะได้ลดลงแล้ว ความเสี่ยงของโรคจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะมีสูงขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.snopes.com/fact-check/red-wine-health-benefits/
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/in-depth/red-wine/art-20048281
https://www.health.harvard.edu/blog/is-red-wine-good-actually-for-your-heart-2018021913285
https://ifh.rutgers.edu/highlight/modern-myths-of-aging-red-wine-and-the-truth-behind-the-french-paradox/
https://www.mdanderson.org/publications/focused-on-health/red-wine-health-benefits-facts-and-myths.h23-1591413.html
https://www.who.int/europe/news/item/04-01-2023-no-level-of-alcohol-consumption-is-safe-for-our-health
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter