กทม.25ก.ย.-นักวิชาการ ยอมรับการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจมีการแทรกแซงจากการเมือง เรียกร้องภาคประชาชนร่วมตรวจสอบกระบวนการสรรหาตามกฎหมายใหม่
นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมเสวนา ในหัวข้อ เรื่อง “มารยาท หรือจรรยาบรรณ ช่วยชาติได้มากกว่า?… กรณีเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจกับการเมือง” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางหรือหลักปฏิบัติที่สร้างสรรค์เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งผู้ให้บริการสาธารณะ ในเวทีเสวนา มีการยอมรับว่า แม้ปัจจุบันในการคัดเลือกบอร์ดรัฐวิสาหกิจจะมีกฎหมายใหม่ ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 2562 ที่มุ่งให้ภาครัฐต้องปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจที่ดี มีความชัดเจนและโปร่งใส รวมถึงการคัดเลือกกรรมการ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้วย แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า การแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจยังคงมีการแทรกแซงทางการเมือง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในขั้นตอนของการ คัดเลือกคณะกรรมการ
เพื่อมาสรรหาบุคคลและแต่งตั้งเป็นบอร์ดรัวิสาหกิจแต่ละแห่ง ซึ่งจะประกอบด้วยข้าราชการ5คนและจากภาคเอกชน จำนวน 3คน ซึ่ง จุดนี้เองทำให้การเมือง มีอำนาจในการชี้ตัวหรือสั่งการให้เลือกตัวบุคคลที่จะนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งได้ และเมื่อบอร์ดมาจากการเมืองทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบอร์ดชุดดังกล่าวก็จะต้องเปลี่ยนตามไปด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องมาทุกยุค
นอกจากนี้ยังพบว่าบอร์ดของรัฐวิสาหกิจของไทย มีความแตกต่างจากบอร์ดของรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศ และเป็นคำถามถึงความเหมาะสม โดยเฉพาะ กรณี มีบอร์ดที่มาจากข้าราชการประจำ /การไม่เปิดคุณสมบัติหรือประสบการณ์ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งหรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ ที่สำคัญค่าตอบแทนของบอร์ดในรัฐวิสาหกิจรวยหลายแห่งอยู่ในระดับสูงมาก หลักหลายล้านต่อปี และมากกว่าค่าตอบแทนของผู้บริหาร
ทั้งนี้ในวงเสวนาได้หาทางออกในการแก้ปัญหานี้ด้วยการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูล และโปร่งใสในขั้นตอนการสรรหาบุคคล รวมทั้งเปิดเผยคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจใหม่แต่ละตำแหน่ง ต่อสาธารณะเพื่อให้ภาคเอกชนได้ร่วมในการตรวจสอบ ทั้งในกระบวนการสรรหาและหลังจากทำหน้าที่แล้ว เพื่อรักษารัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นสมบัติของชาติที่ปัจจุบันในประเทศไทยมี 56 แห่งและมีทรัพย์สินรวมมูลราคา 16ล้านล้านบาทหรือเท่ากับจีดีพีของประเทศ ให้รัฐวิสาหกิจสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศและต่อประชาชนชาวไทย.-สำนักข่าวไทย