โบกอร์ 19 ก.ย.- หน่วยงานวิจัยเรื่องการจัดการป่าในอินโดนีเซียเผยผลการศึกษาว่า ธุรกิจน้ำมันปาล์มทำให้เกาะบอร์เนียวที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติสูญเสียป่าไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 39 ในเวลาไม่ถึง 20 ปี
เกาะบอร์เนียวมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและใหญ่ที่สุดในเอเชีย พื้นที่ทางเหนือไม่ถึงร้อยละ 30 เป็นที่ตั้งของบรูไน รัฐซาบาห์และรัฐซาราวักของมาเลเซีย ที่เหลือเป็นของอินโดนีเซีย ศูนย์เพื่อการวิจัยป่าสากล หรือไซฟอร์ (CIFOR) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองโบกอร์ของอินโดนีเซียเผยว่าช่วงปี 2543-2561 พื้นที่ป่าของเกาะนี้หายไปถึง 39.375 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 15 ล้านไร่หายไปเพราะบริษัทน้ำมันปาล์ม และอีก 2.88 ล้านไร่หายไปเพราะบริษัทผลิตเยื่อกระดาษ เฉพาะธุรกิจน้ำมันปาล์มเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าในส่วนของอินโดนีเซียและมาเลเซียหายไปร้อยละ 35 และ 46 ตามลำดับ อินโดนีเซียและมาเลเซียผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันร้อยละ 85 ของโลก นำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายอย่างตั้งแต่สบู่ ลิปสติก ไปจนถึงไบโอดีเซล
ไซฟอร์คำนวณตัวเลขป่าที่หายไปเพราะธุรกิจจากตัวเลขพื้นที่ป่าที่ถูกหักล้างถางพงแล้วเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางอุตสาหกรรมภายในปีเดียวกัน ไม่รวมพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูกน้ำมันปาล์มรายย่อยที่ผลิตได้ร้อยละ 40 ของทั้งโลก และไม่รวมพื้นที่ป่าที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก ผลการศึกษาพบว่า การเปลี่ยนป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกเริ่มชะลอลงตั้งแต่ปี 2555 เพราะราคาน้ำมันปาล์มตก และอินโดนีเซียมีคำสั่งห้ามทำการเพาะปลูกใหม่ ส่งผลให้การสูญเสียป่าเพราะการขยายการปลูกปาล์มน้ำมันลดลงจากร้อยละ 28.5 ในปี 2560 เหลือร้อยละ 22 เมื่อปีก่อน
ด้านโฆษกกระทรวงของมาเลเซียที่รับผิดชอบเรื่องน้ำมันปาล์มเผยว่า รัฐบาลได้ออกนโยบายจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไม่ให้เกิน 40.62 ล้านไร่ และตัวเลขการปลูกจนถึงปีที่แล้วอยู่ที่ 36.25 ล้านไร่.- สำนักข่าวไทย