กรุงเทพฯ 11 ก.ย. – ในแต่ละปีมีผู้มาขออุปการะเด็กกำพร้าเป็นจำนวนมาก ไปดูขั้นตอนการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้อง ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 6 ฉบับ
นางประพิมพ์ดาว ซาตาเกะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ชี้แจงขั้นตอนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 6 ฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ปี 2522, พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ปี 2533, พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว ฯลฯ
ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จะต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ณ วันที่ยื่นคำร้อง และมีอายุมากกว่าเด็กไม่น้อยกว่า 15 ปี มีรายได้อยู่ในฐานะที่จะอุปการะดูแลเด็กให้มีความเป็นอยู่ที่ดีได้ มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงวุฒิภาวะเหมาะสม ที่สำคัญต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้ปกครองเด็ก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ บุคคลล้มละลาย เป็นผู้ไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์ หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์ เป็นผู้ที่เคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ บุพการี พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากับผู้เยาว์ และเป็นผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาได้ทำหนังสือระบุ “ห้ามมิให้เป็นผู้ปกครอง”
สำหรับการให้ความยินยอม การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทุกราย ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ต้องแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ส่วนหลักฐานการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ในส่วนของผู้ขอรับเด็กและคู่สมรส จะต้องยื่นสำเนาทะเบียนบ้านทั้งคู่ สำเนาบัตรประชาชนทุกคน ใบรับรองแพทย์ ผลตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของทั้งคู่ รูปถ่าย หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี) ใบมรณบัตรของคู่สมรส (ถ้ามี) เอกสารของผู้รับรอง 1 คน รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของตัวเด็ก รวมถึงบิดาและมารดา ต้องยื่นสำเนาทะเบียนบ้านทั้ง 3 คน สำเนาบัตรประชาชนทุกคน รูปถ่าย สูติบัตรของเด็ก เอกสารลงนามยินยอมของเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ คือ การทดลองเลี้ยงเด็ก ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทุกราย ต้องทำการทดลองเลี้ยงดูเด็กไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใต้การสังเกตการณ์ดูแลของเจ้าหน้าที่ เว้นแต่ผู้ขอรับเด็กเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงกับเด็ก หรือบุคคลอื่น จากนั้นหลังคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือคณะอนุกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม แจ้งคำอนุมัติจดทะเบียนให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ผู้ขอรับเด็กต้องดำเนินการจดทะเบียนภายใน 6 เดือน ณ ท้องที่ที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาอยู่
กรณีเป็นชาวต่างชาติ การขอรับบุตรติดภรรยา หรือหลานของภรรยา เป็นบุตรบุญธรรม ต้องยื่นเรื่องที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ถ.ราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0-2354-7500
ทั้งนี้ สถิติในแต่ละปี มีผู้มาขออุปการะเด็กกำพร้า จำนวน 50 คน ส่วนกรณีที่เป็นญาติโดยตรงทำหนังสือยื่นขอรับอุปการะเด็ก ประมาณ 1,000 คน. – สำนักข่าวไทย