กรุงเทพฯ 7 ก.ย.-“พล.อ.ประวิตร” และคณะ ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย สั่งส่วนราชการเร่งเยียวยาและฟื้นฟูให้ทั่วถึง และให้เตรียมรับมือกับภัยแล้งในพื้นที่ฝนทิ้งช่วง
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุ โพดุลและคาจิกิ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งรับฟังสถานการณ์อุทกภัย การดำเนินการช่วยเหลือประชาชน และการขับเคลื่อนบริหารงานของส่วนราชการต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ณ ศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า โดย พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้มอบถุงยังชีพให้ผู้แทนส่วนราชการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ อ.โนนศิลา อ.ชนบท อ.หนองสองห้อง และ อ.เมือง และโอกาสนี้ พล.อ.ประวิตร ได้นำความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีมายังพี่น้องประชาชนในพื้นที่และให้กำลังใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งได้กำชับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกับจิตอาสา เร่งเข้าช่วยเหลือ เยียวยาดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างทั่วถึงและใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ขณะเดียวกันขอให้ติดตามการแก้ปัญหาระยะยาวที่มุ่งเน้นความยั่งยืน
“พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำขอให้ส่วนราชการในพื้นที่เร่งรัดสำรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชนและระบบสาธารณูปโภคในแต่ละพื้นที่ และเร่งซ่อมแซมกลับคืนสภาพเดิมโดยเร็วที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อนผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน” พล.ท.คงชีพ กล่าว
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า จากนั้น พล.อ.ประวิตร และคณะ เดินทางไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อรับทราบสรุปสถานการณ์น้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากสภาวะฝนทิ้งช่วง โดยภาพรวมปริมาณน้ำของเขื่อนในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้และเขื่อนอุบลรัตน์ยังต่ำกว่าเกณฑ์และน่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดย พล.อ.ประวิตร ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและใต้ดินอย่างระมัดระวัง และย้ำขอให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและทุกส่วนราชการ หาโอกาสผันน้ำเข้าเขื่อนในทุกช่องทาง รวมทั้งเร่งจัดทำแก้มลิงตลอดแนวลำน้ำชี พร้อมทั้งจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ บริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึงรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังมาถึง.-สำนักข่าวไทย