สุราษฎร์ธานี 6 ก.ย.- สุดยอด! นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีคิดค้นสำเร็จ “แบริเออร์ยางพารา” มีมาตรฐาน คงทน คุณสมบัติเยี่ยมกว่าแบริเออร์พลาสติกที่ใช้ปัจจุบัน อาจารย์เตรียมนำเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาใช้เพิ่มมูลค่ายางพารา
นายชาญชัย แฮวอู อาจารย์ประจำฝ่ายนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยเทคนิสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้นักศึกษาระดับ ปวส.2 แผนกเทคโนโลยีการยาง แผนกช่างเชื่อมและแผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ประสบความสำเร็จจากการคิดค้นผลิตแท่งแบริเออร์ยางพาราได้สำเร็จได้ตามมาตรฐานของแขวงทางหลวง ที่สำคัญมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ดีกว่าแท่งแบริเออร์จากปูนซีเมนต์ คือ มีน้ำหนักเบากว่า สามารถให้ตัวได้ ช่วยดูดซับแรงกระแทกจากการปะทะ ช่วยป้องกันและลดระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดจากรถเฉี่ยวชน ที่สำคัญแข็งแรงทนทานกว่าแบริเออร์ที่ทำจากจากพลาสติก คุณสมบัติทนแดดทนฝนที่ดีกว่า และเนื้อวัสดุมีอายุการใช้งานที่นานกว่าแบริเออร์จากพลาสติก
“ส่วนประกอบก็มีน้ำยางพาราสด ขี้เลื่อย ใยมะพร้าว ในอัตรา 4:1:2 แล้วประสานด้วยน้ำยาเคมี โดยมีต้นทุนตกประมาณ กก.ละ 170 บาท ซึ่งแท่งแบริเออร์แบบตัวเต็มใช้น้ำยางสดจำนวน 50 กก. และตัวครึ่ง ใช้น้ำยางสดจำนวน 25 กก. ซึ่งค่าเฉลี่ยบวกค่าการตลาด สามารถผลิตแท่งแบริเออร์แบบตัวเต็มได้ในราคา 10,000 บาท ซึ่งต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการวิจัยของกรมทางหลวงกว่า 3 เท่าตัว ขณะนี้ได้ขึ้นอนุสิทธิบัตรในนาม สวพ. สำนักวิจัยอาชีวะ”
นายชาญชัย กล่าวด้วยว่า เร็ว ๆ นี้ทางวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จะนำผลงานการประดิษฐ์ของนักศึกษารายงาน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเพิ่มมูลค่ายางพารา ซึ่งวิทยาลัยฯ พร้อมจะเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับสถาบันทางการเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราให้มีเสถียรภาพในอนาคตได้ระดับหนึ่ง
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า นักศึกษาแผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ยังได้คิดค้นสัญญาณแจ้งเตือนที่ได้แนวคิดมาจากเซ็นเซอร์ถอยหลังของรถยนต์ ช่วยแจ้งเตือนด้วยสัญญาณไฟกระพริบเมื่อรถยนต์เข้าใกล้ในระยะ 150 เซนติเมตร ซึ่งใช้แหล่งพลังงานจากระบบโซลาร์เซลล์ ชาร์จไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เก็บไว้ในแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ทำให้ระบบสามารถทำงานต่อเนื่องได้ถึงประมาณ 3 วัน.-สำนักข่าวไทย