กรมการแพทย์ 2 ก.ย.-กรมการแพทย์ห่วงประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หรือสวมรองเท้าบูทเมื่อต้องลุยน้ำ ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่เช็ดให้แห้งอยู่เสมอ ป้องกันโรคน้ำกัดเท้า
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคผิวหนังที่ประชาชนทั่วไปมักจะคุ้นเคยและพบเสมอในภาวะน้ำท่วม คือโรคน้ำกัดเท้าเมื่อเดินย่ำน้ำบ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำนานๆ จะทำให้เท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าบริเวณที่ผิวหนังเปื่อยนี้เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ในระยะแรกเมื่อผิวหนังมีการแช่น้ำนานๆ จะเกิดอาการเปื่อย ทำให้เกิดอาการระคายเคืองจากสิ่งสกปรกหรือสิ่งระคายเคืองต่างๆ ทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบบวม แดง คัน แสบและทำให้เชื้อโรค เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อรา เข้าสู่ผิวหนังทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งหากผิวหนังมีการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน แต่ถ้าเป็นเชื้อราจะมีลักษณะเป็นขุยสีขาว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคัน
การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า คือ 1.หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หรือสวมรองเท้าบูทเมื่อต้องลุยน้ำ 2.ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่เช็ดให้แห้งและทาครีมบำรุงผิว 3. ถ้ามีผื่นแดงแสบหรือคันควรทายาตามอาการ 4. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ ทั้งนี้ การดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีกจึงมีความสำคัญ การรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคนี้ และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า เมื่อเช็ดให้แห้งแล้วให้ทายารักษาโรคเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับไต และควรรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาส กลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย
นอกจากนี้ผู้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำเพราะอาจถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ .-สำนักข่าวไทย