ชัยภูมิ 31 ส.ค.-ฝนตกหนักบนเทือกเขาภูแลนคาตลอดทั้งวันทั้งคืน ทำให้น้ำป่าจำนวนมากไหลหลากลงสู่เขื่อนลำประทาว แรงน้ำจำนวนมากได้ไหลพัดสะพานเชื่อมต่อระหว่างตำบลบ้านท่าหินโงม และตำบลซับสีทอง อ.เมืองชัยภูมิ ขาดจมหายไปกับกระแสนน้ำ เมื่อช่วงเวลา 04.30 น. ของเมื่อคืนนี้ ช่วงที่ตัดขาดเป็นบริเวณกว้าง 4 เมตร ยาว10เมตร สะพานแห่งนี้เป็นสะพานกั้นลำน้ำลำประทาวตอนล่าง ชาวบ้านทั้ง 2 ตำบลถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนจากหลายหมูบ้านได้รับความเดือดร้อน
พายุโพดุลทำให้ เกิดฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรง ในพื้นที่อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ส่งผลให้ต้นมะขามเฒ่าเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี ที่หักโค่นถล่มลงมาทับเสาไฟฟ้า บ้านเรือนและรถยนต์ ของนายอุกฤษ เผ่าโพนทอง อายุ 50 ปี ได้รับความเสียหายจำนวนมากนับหลายแสนบาท
ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม จึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากจากดงแม่เผตเข้าสู่ตลาดสดเทศบาลตำบลโพนทองที่ตั้งริมลำห้วยโพนทอง ภายใน 30 นาที น้ำป่าเร็วและแรงไหลบ่าท่วมตลาด และร้านค้าร้านขายในเขตเทศบาลตำบลโพนทอง พ่อค้าแม่ขายเก็บของหนีไม่ทันทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นตู้เย็นขนาดใหญ่ที่ใช้แช่ผัก-ผลไม้ รถยนต์-จยย.ข้าวสาร-ที่วางขาย จมน้ำหายลับไปกับกระแสน้ำป่าทันที
น้องโอ ร้านขายไข่ หนึ่งในแม่ค้าที่มีร้านในตลาดสดโพนทอง บอกทีมข่าวว่า ช่วงก่อนมวลน้ำป่าจะมาไม่ถึง 10 นาที ตนเองลงไข่ไก่-เนื้อไก่บด ทุนประมาณเจ็ดหมื่นบาท เพื่อเตรียมขายพรุ่งนี้เช้าได้จมหายไปกับน้ำป่าที่ไหลเชี่ยวแรง ไม่ทราบจะหาเงินที่ไหนมาเป็นทุนต่อไป ตู้เย็นขนาดใหญ่ที่ไว้แช่ไก่จำนวน 6 ตู้ ตู้ละ 5 หมื่นบาทรวม 3 แสนบาท จมน้ำ และเมื่อน้ำลดมี “ตอตะเคียน” ขนาดใหญ่โดนน้ำป่าซัดมาเกยอยู่หน้าบ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อิทธิพลพายุ “โพดุล” ฝนถล่มอีสาน-เหนืออ่วม
- “โพดุล” ยังแผ่อิทธิพลฝนหนักหลายจังหวัด น้ำล้นสปิลเวย์ ดินสไลด์ ร้อยเอ็ดอ่วมอีก
- น้ำป่าหลากซัดสะพานเชื่อม 2 ตำบลใน อ.เมืองชัยภูมิ ถูกตัดขาด
อ.เนินปรางน้ำไหล่บ่าทำถนนขาด ชาวบ้าน120 หลังคาเรือนติดเกาะ
สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เนินมะปราง อ.วังทอง อ.บางกระทุ่ม อ.นครไทย โดยเพาะที่ อ.เนินมะปราง ที่ได้ที่ถนนทางเข้าหมู่บ้านที่เชื่อมกันระหว่างหมู่ 4 และ หมู่ 8 บ้านวังกระทะ ตำบลวังโพรง อำภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก นำที่บ่าลงมาท่วมไร่นาในพื้นที่เสียหายไปแล้วหลายร้อยไร่ และกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก ยังพัดถนนลาดยาง สายหน้าสถานีอนามัยบ้านวังกระทะ ที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา ขาดเป็นระยะทางยาวกว่า 7-10 เมตร ชาวบ้านไม่สามารถใช้รถ หรือข้ามฝั่ง เดินทางไปมาหากันได้ ชาวบ้านหมู่ 4 ประมาณ 120 หลังคาเรือนต้องติดเกาะ
สั่งปิดอุทยานทุ่งแสลงหลวงเพื่อความปลอดภัย
ฤทธิ์ของพายุโพดุล ทำให้อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีประกาศปิดการให้บริการบริเวณแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย 1.น้ำตกแก่งโสภา ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 2.ถ้ำพระวังแดง ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก 3.ถ้ำเดือนถ้ำดาว ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก 4.หน่วยพิทักษ์ ที่ สล.8 (หนองแม่นา) ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 5. สะพานสลิง ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลกตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นักท่องเที่ยว ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เนื่องด้วยแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ได้มีฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากจำนวนมาก
อ.ร้องกวางฝนตกหนักอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งแตก
พายุ “โพดุล” ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ จ.แพร่ มาอย่างต่อเนื่องมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา โดยวันนี้ที่อ่างเก็บน้ำแม่ยางหลวง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ และฝายเก็บน้ำห้วยแม่ยางหลวงแตกเสียหาย ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมกลางทุ่งนา รถไถของชาวบ้าน 3 คัน และน้ำยังเอ่อท่วมบ้านของชาวบ้าน สูงครึ่งเมตร จำนวน 50 หลัง
นอกจากนั้น น้ำจากอ่างแม่คำปอง อำเภอร้องกวาง ยังได้ล้นอ่างไหลท่วมบ้านเรือนในพื้นที่หมู่ 4 และหมู่ 7 จำนวน 100 หลังคาเรือน ผู้ใหญ่บ้านต้องเร่งช่วยเหลือผู้สูงอายุ และคนพิการออกมาจากบ้านเรือน เพราะเกรงว่าน้ำจะเข้าท่วมถึงบนบ้าน และยังมีบ้านชั้นเดียวที่ต้องเร่งอพยพคนออกมาก่อน
พายุ “โพดุล” ทิ้งทวนมีฝนถล่มหนัก 27 จังหวัด
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศพายุ “โพดุล” ฉบับสุดท้าย โดยแจ้งเตือนให้ 27 จังหวัดเฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ “พายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำ) “โพดุล” ฉบับที่ 17 โดยพายุ “โพดุล” ซึ่งปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง จะทำให้ภาคเหนือและภาคกลาง จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหล และจะมีผลกระทบไปจนถึงวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย.)
สำหรับพื้นที่เกิดฝนตกหนัก ประกอบด้วย ภาคเหนือ แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, พิจิตร และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง ประกอบด้วย ราชบุรี, กาญจนบุรี, อุทัยธานี, สุพรรณบุรี และนครสวรรค์ ภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด ส่วนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, พังงา และภูเก็ต
ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ “จิสด้า” เผยภาพพื้นที่น้ำท่วมจากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อเวลา 06.16 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2562 ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุโพดุล โดยจะพบว่าจุดที่เป็น “สีฟ้าอ่อน” เป็นบริเวณที่มีน้ำท่วมเป็นหย่อมๆ ทั้งที่มหาสารคาม, นครราชสีมา, ขอนแก่น, บุรีรัมย์, ชัยภูมิ, อุดรธานี, กาฬสินธุ์ และสุรินทร์ รวมเนื้อที่ประมาณ 294,000 ไร่ ส่วนใหญ่กระจายในที่ลุ่มการเกษตร และบริเวณริมแม่น้ำสายหลักกับลำน้ำสายย่อย
ตรวจสอบปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ หลังจากที่เกิดฝนตกหนักแทบจะทั่วทุกภาค โดยล่าสุดพบว่าเขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำรวม 4,851 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำรวม 4,668 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิรินธร มีปริมาตรน้ำรวม 1,358 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาตรน้ำรวม 14,276 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาตรน้ำรวม 6,811 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนรัชชประภา มีปริมาตรน้ำรวม 3,705 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยภาพรวมเขื่อนที่มีสัดส่วนน้ำกักเก็บสูงสุด คือ เขื่อนศรีนครินทร์ อยู่ที่ร้อยละ 80 รองลงมาคือเขื่อนวชิราลงกรณ และ เขื่อนแก่งกระจาน ร้อยละ 77 ส่วนเขื่อนปราณบุรี, สิรินธร, กิ่วลม และ รัชประภา สัดส่วนน้ำกักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 66 – 70 อย่างไรก็ตาม มีเขื่อนอีก 13 แห่งที่ระดับน้ำยังน่าเป็นห่วง เพราะมีสัดส่วนน้ำกักเก็บไม่ถึงร้อยละ 30.-สำนักข่าวไทย