กรุงเทพฯ 26 ส.ค. – ผู้ผลิตปิโตรเคมียักษ์ใหญ่ของไทย ทั้ง บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (จีซี ) และกลุ่มเอสซีจี ตั้งเป้าหมายชัดผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดวงจรการผลิต-บริโภค-นำกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่า
ในงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ระดมสมองลุยแก้วิกฤติทรัพยากรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ”รณรงค์การใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรการผลิต โดยกุญแจความสำเร็จ คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความรู้ความเข้าใจ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และการกำจัดขยะ พร้อมเตรียมยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นจีซี ในฐานะแกนนำธุรกิจปิโตรเคมี กลุ่ม ปตท. กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการลดภาวะโลกร้อน โดยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 20 ใน 10 ปี หรือภายในปี 2573 และจีซียังตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกำลังผลิต ตั้งเป้าลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2593 โดยตามแผนดำเนินการทั้งการรณรงค์ให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การทำแผนจากพนักงานเสนอแนวคิด และเชื่อมโยงมายังเครือข่ายภายนอก เพื่อให้เกิดความสำเร็จและผลักดันแผนธุรกิจร่วมกันทั้งเน้นลดการปลดปล่อยของเสีย ลดการใช้ทรัพยากรทั้งพลังงานและน้ำ และส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงส่งเสริมการร่วมทุนเศรษฐกิจชีวภาพ
สำหรับแผนงานสำคัญ ได้แก่ การวางแผนแนวทางแก้ไขขยะพลาสติกที่จะเกิดขึ้นจากกำลังผลิตของจีซี ประมาณ 3 ล้านตัน/ปี จะเป็นขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 10 หรือ 300,000 ตัน/ปี ดังนั้น จีซีจึงประกาศชัดจะยกเลิกการผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 150,000 ตัน/ปี ใน 5 ปีข้างหน้า โดยในส่วนนี้จะนำไปส่งเสริมการผลิตพลาสติกที่คงทน เช่น ท่อ พลาสติกเพื่อการหล่อชิ้นใหญ่ เป็นต้น ส่วน อีก 60,000 ตัน/ปี จะร่วมทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่เป็นมาตรฐานระดับโลกได้เป็นระดับพลาสติกรีไซเคิลเพื่อบรรจุภัณฑ์อาหาร ส่วนปริมาณที่เหลือได้มีการวางแผนดำเนินการรูปแบบอื่น ๆ ที่ร่วมกับพันธมิตรเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น โครงการอัพไซเคิลดิโอเชียนในไทย โครงการเปลี่ยนขยะเป็นจีวรพระ เป็นต้น
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ปี 2561 เอสซีจีสามารถนำของเสียอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบทดแทน 313,000 ตันของเสีย/ปี และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 131,000 ตันของเสีย/ปี และปี 2562 ยังคงเดินหน้าการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยตั้งเป้าการลดการผลิตพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2568 และเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เป็นร้อยละ 100 ภายในปี 2568 โดยดำเนินการหลายรูปแบบ และจำเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อสู่เป้าหมายที่ชัดเจน หนึ่งในแผน คือ จะศึกษาถึงการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลมาตรฐานระดับโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนของรัฐบาลด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยเฉพาะการออกกฎหมายและการบริหารจัดการระบบจัดเก็บขยะที่เข้มงวด ซึ่งด้วยความเชื่อมั่นว่า “การสร้างการมีส่วนร่วม” ของทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นการตื่นตัวของพันธมิตรกว่า 45 ราย ประกอบด้วยองค์กรความร่วมมือระดับโลก 5 ราย ภาครัฐ 3 ราย ภาคเอกชน 29 แห่ง โรงเรียนและชุมชน 8 แห่ง ที่ร่วมทำให้เกิดโมเดลการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและแก้ปัญหาขยะได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเป็นรูปธรรมใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ รวมถึงความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะทะเล
“การขยายตัวของประชากรโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 9,700 ล้านคนภายในปี 2593 นำไปสู่ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ขณะที่ทรัพยากรโลกมีจำกัด โดยคนไทยหนึ่งคนสร้างขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัม/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2561 ประเทศไทยมีขยะถึง 28 ล้านตัน หากขาดการจัดการที่ดี ก็จะมีปัญหาขยะไหลสู่ทะเล จนเกิดการสูญเสียมากมาย ดังกรณีพะยูนมาเรียม ดังนั้น แนวคิดCircular Economyสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต (Make-Use-Return) จึงเป็นทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จากการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดกระบวนการ รวมถึงการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ไม่ทิ้งในแม่น้ำลำคลองหรือทะเล เพื่อส่งต่อทรัพยากรของโลกสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าว
ที่ผ่านมาเอสซีจีได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้การดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1. Reduce และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น 2. Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ใช้งานได้โดยก่อให้เกิดของเสียบริเวณหน้างานก่อสร้างน้อยที่สุด และ 3. Reuse หรือ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ การร่วมมือกับร้านค้า Modern Trade และซุปเปอร์มาเก็ตรับกล่องหรือเศษกระดาษกลับมารีไซเคิลเพิ่มขึ้น และการออกแบบสูตรการผลิตเม็ดพลาสติก (Formulation) โดยนำมาผสมกับเม็ดพลาสติกจากเทคโนโลยี SMX ของเอสซีจีที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติของพลาสติกรีไซเคิลให้ดีขึ้น และสามารถเพิ่มสัดส่วนของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้นถึงร้อยละ 30.-สำนักข่าวไทย