นนทบุรี 26 ส.ค. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์สั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดทำแผนเร่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยในพื้นที่ EEC คิกออฟให้ความรู้และระดมความคิดเห็นสร้างเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้ายกระดับเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป้าหมาย คือ เป็นศูนย์กลางแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงการท่องเที่ยว เกษตรกรรมและโลจิสติกส์ โดยหวังให้พื้นที่ EEC เป็นแกนนำพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น EEC จึงเป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่จะผลักดันการพัฒนาและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 แบบก้าวกระโดด
อย่างไรก็ตาม การให้บริการโลจิสติกส์เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์รวมถึงธุรกิจให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า บริการคลังสินค้า ธุรกิจตัวแทนออกของพิธีการทางศุลกากร และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ การเก็บสินค้า การบริการให้กับธุรกิจการค้า การผลิต การส่งออก และการบริการทุกประเภท ดังนั้น ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยสามารถช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ธุรกิจอื่น ๆ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC ด้วยเทคโนโลยี โดยจัดการสร้างองค์ความรู้ ระดมความคิดเห็น สร้างเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์ในพื้นที่ต้นแบบเศรษฐกิจอนาคต หัวข้อ “การขับเคลื่อนโลจิสติกส์ใน EEC ด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัล” มุ่งเน้นให้ความรู้ การปรับตัวยุคดิจิทัลและนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของธุรกิจ พร้อมทั้งระดมความคิดเห็นและสร้างเครือข่าย เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบและแพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีชื่อเสียงมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจในเชิงพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ โดยจะขยายพื้นที่การพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ คาดหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักรู้ เห็นความสำคัญและเข้าใจกระบวนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดการรวมตัว ความร่วมมือ และเชื่อมโยงเครือข่ายในธุรกิจ เมื่อธุรกิจโลจิสติกส์ในเขตพื้นที่ ECC มีความเข้มแข็ง จะส่งผลให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล และท้ายที่สุด คือ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยจะสามารถครองพื้นที่ให้บริการในพื้นที่ EEC ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562) มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย 26,365 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนน 17,741 ราย คิดเป็นร้อยละ 67.29 ของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั้งหมด และมีผู้ประกอบการให้บริการโลจิสติกส์อยู่ในเขตพื้นที่ EEC 3,336 ราย คิดเป็น ร้อยละ 88.62 ของภาคตะวันออก และร้อยละ 12.65 ของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั้งหมดอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย