กรุงเทพฯ 11 ส.ค.-โครงการ Move World Together : เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของ กฟผ. รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากผลงาน “โรงเรือนตากขี้ยางพารา” ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม 2016 International Invention Innovation Competition in Canada : iCAN 2016 ณ เมืองโทรอนโท ประเทศแคนาดา สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า Toronto International Society of Innovation and Advanced Skills : TISIAS ประเทศแคนาดา แจ้งผลการประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม2016 International Invention Innovation Competition in Canada : iCAN 2016 มอบรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ให้กลุ่มเยาวชนโครงการ Move World Together จากผลงาน “โรงเรือนตากขี้ยางพารา” ของโรงเรียนสิรินธรวิทยานุสรณ์ จังหวัดอุบลราชธานี ในพื้นที่โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร กฟผ. ซึ่งได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานของ iCAN 2016 ซึ่งประกอบด้วย World Invention Intellectual Property Associations : WIIPA , International Federation of Inventors Associations : iFIA , Innovation Initiative Co-operative Inc : ICO และ Toronto International Society of Innovation and Advanced Skills : TISIAS พิจารณาคัดเลือกให้ผลงาน “โรงเรือนตากขี้ยางพารา” ได้รับรางวัลเหรียญทอง โดยเกณฑ์ในการตัดสินผลงาน พิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีและเอกลักษณ์ คุณลักษณะเด่น สามารถนำมาใช้งานได้จริง ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและความเป็นไปได้ด้านการตลาดและการจำหน่าย ซึ่งโรงเรือนตากขี้ยางพารา ช่วยชาวบ้านในชุมชนอำเภอสิรินธร ที่มีอาชีพจำหน่ายยางพาราในรูปแบบขี้ยางหรือยางก้นถ้วย แก้ปัญหาการตากขี้ยางบนลานคอนกรีต ซึ่งใช้พื้นที่มากและเปียกชื้นจากฝน รวมทั้งต้องพลิกกลับให้รับแสงแดดทั้งสองด้านเพื่อไล่ความชื้นไม่ให้เกิดเชื้อรา ซึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวใช้พื้นที่น้อย ออกแบบให้มีการหมุนวนถ่ายเทของอากาศเพื่อไล่ความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้โครงการ Move World Together : เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง กฟผ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และสมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในรูปแบบค่ายอบรมผู้นำเยาวชน เพื่อโลกที่ยั่งยืน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี มาแล้วเป็นปีที่ 5 โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนวิธีคิดของเยาวชนด้วยกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เยาวชนสามารถนำความคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ไปใช้ในการแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตน ลดปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายอาคม กำลังเร่ง ครูที่ปรึกษาโครงการ ของโรงเรียนสิรินธรวิทยานุสรณ์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า โครงการ Move World Together ของ กฟผ. เป็นโครงการที่พัฒนาให้เยาวชนเกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก และส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม มีกระบวนการคิดที่แปลกใหม่ ซึ่ง ผลงานดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ชิ้นงานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเครื่องมือที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้จริง พร้อมเตรียมนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆที่จะเป็นประโยชน์แก่โรงเรียน ชุมชน สังคมและประเทศชาติสืบไป-สำนักข่าวไทย