ศูนย์ฯ สิริกิติ์ 11 ส.ค. – นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ 24 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ภายใต้แนวคิด “ไหมรักษ์โลกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 14 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและผูกพันกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความผูกพันกับผ้าไหมมาเป็นเวลานานนับพันปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการปลูกหม่อนไหมมาอย่างยาวนาน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีรายได้มั่นคง เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพและความเป็นไทย ลดการเคลื่อนย้ายอพยพของแรงงานจากชนบทสู่สังคมเมือง ทั้งยังก่อให้เกิดความผูกพันและส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น สอดคล้องกับแนวคิดการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ ปี 2555 รัฐบาลและปวงชนชาวไทยถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย” แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการหม่อนไหมไทย
ด้านนายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 รวมทั้งให้นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องด้านหม่อนไหมทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการและนักวิจัยนานาชาติ พร้อมสร้างโอกาสและสนับสนุนให้นักวิจัยของไทยแสดงผลงานวิจัยและสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์ของนานาชาติ และเผยแพร่เอกลักษณ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยและไหมไทย
สำหรับการประชุม ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานทางวิชาการหม่อนไหม ในภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ 8 ด้าน ได้แก่ 1.หม่อน 2.ไหมชนิดที่กินใบหม่อนเป็นอาหาร 3.ไหมชนิดที่กินพืชอื่นเป็นอาหาร 4. พันธุศาสตร์หม่อนไหม 5.เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว 6.เศรษฐศาสตร์ 7.การแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม และ 8.ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมการค้าและการตลาด นอกจากนี้ ยังมีการทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกและนักวิจัยด้านหม่อนไหม ซึ่งเป็นชาวต่างชาติจาก 12 ประเทศและนักวิจัยด้านหม่อนไหมของไทยรวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 300 คน
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศยังได้มอบรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ ให้แก่นักวิจัยและบุคคลที่มีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ และการตลาด หรือผู้ทำคุณประโยชน์แก่วงการหม่อนไหม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ ได้แก่ ดร.ซันเจ คูมาร์ ปันดา ประเทศอินเดีย ดร.มาซาฮิโร่ โทมิตะ ประเทศญี่ปุ่น และนายสุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทอุตสาหกรรมไทยไหม จำกัด ประเทศไทย .-สำนักข่าวไทย