นนทบุรี 21 ส.ค. – กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการก้าวทันยุคดิจิทัล
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนา เรื่อง “การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่างครบวงจร รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการเร่งสร้างความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญปัญหาการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องมีการนำเทคโนโลยียุคใหม่เข้ามาใช้ในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AI, Iot, Blockchain, Clould, Big Data, E-Commerce การขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งการค้าขายไม่ได้จำกัดเฉพาะในประเทศแต่อย่างเดียว ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs จึงต้องมีการปรับตัวให้สามารถแข่งขันและสร้างแต้มต่อความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในเวทีโลก กรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้มีการปรับตัวเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ จึงได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (IP IDE Center) ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีทีมบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มุ่งให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้ไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและการค้าของไทย ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัล มีการสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีโดยใช้ฐานข้อมูลสิทธิบัตร การคิดค้นนวัตกรรม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการประกอบธุรกิจ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศผ่านระบบ Madrid Protocol การยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในต่างประเทศด้วย PCT รวมถึงการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาผ่านระบบ e-Filing โดยในเรื่องการตลาด ผู้ประกอบการได้เรียนรู้เกี่ยวกับช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ การจัดทำแผนธุรกิจ การระดมทุนและหาแหล่งเงินทุน
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SMEs นักประดิษฐ์ นักวิจัย เจ้าของผลงานทรัพย์สินทางปัญญา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก และเชื่อมั่นว่าจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้มีแนวคิดในการพัฒนาธุรกิจแบบครบวงจร มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ และสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย