นนทบุรี 19 ส.ค. – รมว.พาณิชย์เร่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรับโฉมร้านโชห่วยดั้งเดิมให้เป็น smart โชห่วย หวังสร้างความเข้มแข็ง พร้อมชงแนวทางประกันรายได้ปาล์มและข้าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังร่วมงานครบรอบ 99 ปี วันสถาปนากระทรวงพาณิชย์ ว่า ก้าวต่อไปของการทำงานข้าราชการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นไปตามกรอบนโยบาย 10 นโยบายหลัก โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน คือ ดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนที่จะควบคู่ไปกับการพัฒนาร้านค้าโชห่วยดั้งเดิมของคนไทยให้มีความเข้มแข็งต่อสู้ปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัยของโลก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นความสำคัญและเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือร้านค้าโชห่วยไทยอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการและมอบหมายให้นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไปศึกษาและจัดทำรูปแบบที่จะปรับปรุงร้านโชห่วยดั้งเดิมให้เป็น smart โชห่วยให้บริการเทียบเท่าห้างต่าง ๆ โดยขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะไปสำรวจร้านโชห่วยทั่วประเทศยังเปิดให้บริการมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และกำหนดรูปแบบหรือต้นแบบของ smart โชห่วยที่จะมีการปรับรูปโฉมใหม่มีหน้าตาอย่างไรและดีกว่าร้านโชห่วยขณะนี้อย่างไร ซึ่งตัวเลขร้านโชห่วยดั้งเดิมมีอยู่แล้วคงจะไม่ลำบากในการสำรวจตรวจสอบ ดังนั้น เมื่อจัดทำต้นแบบ smart โชห่วยเรียบร้อยจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปแนวทางการปรับร้านโชห่วยดั้งเดิมให้เป็นร้าน smart โชห่วย และคาดว่าไม่นานเกินรอจะมีความชัดเจนเรื่องนี้ โดยเฉพาะเป้าหมายการปรับเปลี่ยนเป็น smart โชห่วยก่อนหมดปีนี้และเป้าหมายปีหน้าจะมีอย่างน้อยกี่แห่ง แต่เรื่องนี้ถือว่าต้องเร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวนาและชาวสวนปาล์มน้ำมันนั้น ในช่วงบ่ายจะมีการประชุมคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เพื่อสรุปมาตรการประกันราคาปาล์มน้ำมัน 4 บาทต่อกิโลกรัมให้ที่ประชุมได้พิจารณา คาดว่าเมื่อมีมติชัดเจนก็จะได้ตัวเลขช่วยเหลือชาวสวนปาล์มว่าโครงการประกันรายได้นี้จะใช้เงินงบประมาณมากน้อยแค่ไหนและจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พรุ่งนี้ (20 ส.ค.) หรือสัปดาห์หน้า ส่วนประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าวนั้น คณะกรรมการ 3 ฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว หรือ นบข ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 21 สิงหาคมนี้ แต่หากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจวันดังกล่าวก็จะเลื่อนประชุมเป็นสัปดาห์หน้า เพื่อจะได้เร่งพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ต่อไป ดังนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าโครงการประกันรายได้ข้าวจะใช้งบประมาณเท่าใด แต่เชื่อว่าเมื่อผ่านการพิจารณาในที่ประชุม นบข. มาแล้วจะทราบตัวเลขที่ชัดเจนมากขึ้น
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ผู้ประกอบการร้านโชวห่วยและร้านค้าส่งในจังหวัดนครราชสีมา ว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่พบปะและตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการร้านโชห่วยและร้านค้าส่ง ซึ่งส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างมาก จึงต้องการลงมารับฟังปัญหา-อุปสรรค-ข้อเสนอแนะของร้านค้าด้วยตนเอง และพร้อมที่จะนำความเห็นนั้นมาดำเนินการช่วยเหลือให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าผลักดันให้เป็นวาระหลักที่ต้องเร่งดำเนินการให้การสนับสนุนส่งเสริม เพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านการจัดการร้านค้า และให้การช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนการใช้เงินในระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ โชห่วยร้านแรกที่ตรวจเยี่ยม คือ ร้านพูนทรัพย์มินิมาร์ท ต.หมื่นไวย อ.เมือง ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกต้นแบบในหมู่บ้านที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นร้านสมาร์ทโชวห่วยแห่งแรกใน ต.หมื่นไวย เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการพูดคุยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของร้านโชห่วย คือ ไม่มีระบบการบริหารจัดการร้านค้าที่ดี การจัดร้านไม่เป็นระเบียบทำให้ลูกค้าหาสินค้าลำบาก ไม่มีระบบการตรวจเช็คสตอกสินค้า ทำให้บางครั้งสินค้าที่ซื้อมาจำหน่ายมีมากเกินความจำเป็นหรือสินค้าหมดอายุ และที่สำคัญ คือ ไม่สามารถจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าในร้านได้ ฯลฯ หลังจากได้รับการพัฒนาให้เป็นร้านสมาร์ทโชห่วยที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า ทำให้ยอดขายในร้านเพิ่มขึ้นต่อเดือนประมาณร้อยละ 10-15 ลูกค้าหาสินค้าง่ายมากขึ้น บริหารสตอกสินค้าเป็นระเบียบมากขึ้น อีกทั้งร่วมมือกับซัพพลายเออร์รายใหญ่จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เช่น ซื้อ 1 แถม 1 หรือซื้อสินค้าครบ 99 บาท แถมกระเป๋า ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าในร้านเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมร้านวงศ์มังกรซุปเปอร์สโตร์ ต.ในเมือง อ.เมือง ซึ่งเป็นร้านค้าส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ เป็นกิจการของคนไทย 100% และเป็นร้านค้าส่งที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ มีเครือข่ายที่เป็นร้านค้าปลีกและร้านโชห่วย ประมาณ 500 ร้านค้าทั้งในและนอกอำเภอเมือง จากการพูดคุยพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่จะคล้าย ๆ กับร้านโชห่วย คือ ไม่มีระบบการบริหารจัดการร้านค้าที่ดี ไม่มีระบบการบริหารสตอกสินค้า และปัญหาด้านเงินทุนสำหรับสั่งซื้อสินค้าเข้าร้าน ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันทางร้านนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า และมีระบบโลจิสติกส์เดลิเวอรี่ที่พร้อมจะนำสินค้าไปส่งให้ร้านค้าปลีกรายย่อย โดยเจ้าของร้านไม่ต้องเดินทางมาที่ร้าน พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านโชห่วยที่เป็นเครือข่าย ทำให้มีลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย ทำให้เข้าใจร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากพูดคุยและตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการร้านโชห่วยและร้านค้าส่งได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่ได้รับ พร้อมหามาตรการสนับสนุนส่งเสริมร้านค้าปลีก-ค้าส่งเสนอตนมาโดยเร็ว ให้เน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมชัดเจน เกิดภาคีเครือข่ายธุรกิจ และสามารถผลักดันให้ธุรกิจโชห่วยก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงในรูปแบบ “จับมือพันธมิตร ติดปีกโชห่วยไทย” พร้อมให้เร่งดำเนินการผลักดันร้านโชห่วยเป็นสมาร์ทโชห่วย โดยมั่นใจว่าภายในปี 2563 จะสามารถดำเนินการครบ 10,000 แห่ง อย่างแน่นอน ซึ่งจะให้ทำให้ร้านโชห่วยมีความแข็งแกร่ง และอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน
ทั้งนี้ ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฯ ได้สังเกตพฤติกรรมลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าในร้านโชห่วยยิ่งมีความมั่นใจว่า ร้านโชห่วยยังไงก็ต้องอยู่คู่กับสังคมไทย เนื่องจากไม่เพียงจะเป็นร้านค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านสำหรับขายสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นเท่านั้น แต่ร้านโชห่วยยังเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของคนในหมู่บ้าน และที่สำคัญ คือ เป็นแหล่งเอื้ออาทรที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงสามารถมาเอาสินค้าในร้านไปใช้สอยได้ก่อน…พรุ่งนี้ค่อยมาจ่ายเงิน ซึ่งถือเป็นเสน่ห์และวัฒนธรรมการเอื้ออาทรของคนในชุมชนที่ร้านสะดวกซื้อไม่สามารถทำได้.-สำนักข่าวไทย