กรุงเทพฯ 8 ส.ค. – กฟน. เอาจริง เข้าแจ้งความกับ ปอท. เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพที่แอบอ้างโฆษณาชวนเชื่อ ยืนยันอุปกรณ์ช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในบ้านไม่มีอยู่จริง
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน.พร้อมด้วยนายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และ นายกิตติศักดิ์ วรรณแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้นำผู้เสียหายจำนวน 4 คน เข้าแจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท.
โดยนายจาตุรงค์ เปิดเผยว่า จากการที่มีการโฆษณาขายอุปกรณ์ที่ช่วยลดค่าไฟฟ้าในราคาประมาณ 1 พันกว่าบาท ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Expert Electric พร้อมละเมิดแอบอ้างโดยการนำภาพข่าวของ กฟน. ไปตัดต่อสร้างความน่าเชื่อถือใช้โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชนนั้น กฟน. ขอชี้แจงว่า กฟน. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กแฟนเพจ และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่โฆษณาแต่อย่างใด และขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริงจำนวน 30-50%แบบที่กล่าวอ้างและอาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้าผิดปกติ หรือกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย
ล่าสุด กฟน.ได้เข้าแจ้งความที่ ปอท.แล้วเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ละเมิดแอบอ้างอย่างถึงที่สุด เนื่องจากไม่ต้องการให้มีผู้หลงกลตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม กฟน. ขอแนะนำวิธีการประหยัดไฟฟ้าที่เหมาะสมที่สุด และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า โดยเปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งาน และปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน รวมถึงการปรับตั้งค่าการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสม โดยเฉพาะการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากการปรับตั้งอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปเช่น 18 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้น ไม่ควรเปิด – ปิดตู้เย็นบ่อย และเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟฟ้าชนิด LED เลือกใช้เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการ ปอท.กล่าวแนะนำว่า อยากให้ผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความ เพื่อเอาผิดกับคนทำผิดไม่ให้มีที่ยืนในสังคมและอย่าคิดว่าเป็นเงินเพียงเล็กน้อยแค่หนึ่งพันกว่าบาทก็ตาม เพราะหากมีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก จำนวนเงินก็จะเพิ่มมากขึ้น . – สำนักข่าวไทย