กรุงเทพฯ 6 ส.ค. – กรมชลประทานระบุน้ำเขื่อนทั่วประเทศเพิ่มขึ้น จากอิทธิพลพายุวิภาและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พื้นที่เกษตรประสบภัยแล้งฟื้นตัว เริ่มปรับลดการระบายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกจากพายุวิภาตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคมนี้ ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศรวม 2,011.69 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำหรับอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวม 622.92 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากฝนที่ตกลงมาทำให้นาข้าวและพืชผลของเกษตรกรเริ่มฟื้นตัว กรมชลประทานจึงเริ่มปรับลดการระบายน้ำตามความต้องการใช้น้ำของแต่ละพื้นที่ โดยเขื่อนภูมิพลเดิมระบาย 21 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือ 16 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์เดิมระบาย 17.79 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือ 13.92 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเดิมระบาย 1.73 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือ 1.17 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คงการระบายที่ 200,000 ลบ.ม. รวมปริมาตรการระบายของทั้ง 4 เขื่อนวานนี้ (5 ส.ค.) 40.79 ล้าน ลบ.ม. ส่วนวันนี้ (6 ส.ค.) เหลือ 31.36 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งลดลง 9.43 ล้านลบ.ม. ต่อวัน
นายทองเปลว กล่าวว่า อิทธิพลของพายุวิภาทำให้มีฝนตกภาคเหนือฝั่งตะวันออกส่วนมากจังหวัดน่านหลายพื้นที่มีฝนตกมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน ทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์มากและระดับน้ำแม่น้ำน่านมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อพายุอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และตาก ทำให้มีฝนตกลงต้นน้ำปิงไหลเข้าสู่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก นอกจากนี้ อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมมรสุมประจำฤดูฝน ทำให้ฝนตกชุกในพื้นที่ภาคกลางฝั่งตะวันตก ดังนั้น น้ำจึงไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์และวชิราลงกรณ์รวม 736.13 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้สำหรับฤดูแล้งจึงมีมากขึ้นและสามารถผันมาเสริมน้ำลุ่มเจ้าพระยาผ่านคลองท่าสาร-บางปลาเข้าสู่ระบบของโรงผลิตน้ำประปามหาสวัสดิ์ การประปานครหลวง ซึ่งจ่ายน้ำพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก รวมทั้งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างบริเวณจังหวัดนครปฐม เพื่อไม่ให้มีภาวะน้ำเค็มรุก ซึ่งล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ย้ำให้บริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอทุกภาคส่วน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนที่ตกลงมาทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนต่าง ๆ จังหวัดริมน้ำโขงนั้น สถานการณ์น้ำดีขึ้น เนื่องจากระดับน้ำลำน้ำโขงสูงขึ้น ทำให้แม่น้ำสายหลักของไทยบรรจบกับลำน้ำโขงมีระดับสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงเวลาเดียวกัน หากฝนตกต่อเนื่องตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ
นายทองเปลว กล่าวถึงการส่งน้ำสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช ล่าสุดเสริมเครื่องสูบน้ำ 30 เครื่อง เดินเครื่องสูบ 25 เครื่อง โดยวันนี้จะติดตั้งเสริมคลองบางตะเคร็ง ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน คลองทุ่งพัด ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด อาคารท่อระบายน้ำหินกอง ตำบลควนชะลิก ตำบลหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ ล่าสุดส่งน้ำได้วันละ 626,400 ลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมาส่งน้ำได้รวม 2,175,400 ลบ.ม.
“การเร่งสูบน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบนและปากพนังล่างสนับสนุนการดับไฟป่านั้น ล่าสุดผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแจ้งว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงที่ลุกโหมบริเวณ หมู่ 4 ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยให้ดับลงแล้ว แต่ยังต้องฉีดพ่นน้ำตามแนวเผาไหม้ไม่ให้เกิดการปะทุขึ้นอีก ส่วนอีกจุดหนึ่ง คือ พื้นที่บ้านบางปลาหมอ หมู่ 4 ตำบลชะอวด อำเภอชะอวด รอยต่อหมู่ 1 และ 5 ตำบลแม่เจ้าอยุ่หัว อำเภอเชียรใหญ่แนวไฟขยายเข้าพื้นที่หมู่ 2 ขณะนี้สามารถควบคุมแนวไฟได้แล้ว แต่ยังต้องฉีดพ่นน้ำป้องกันการลุกโหม ซึ่งกรมชลประทานจะสนับสนุนการส่งน้ำจนกว่าภารกิจจะลุล่วง” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย