กทม. 15 ส.ค. – กทม.ปิดประกาศรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ พร้อมส่งจดหมายขอความร่วมมือถึงเจ้าของบ้าน 44 หลังที่เหลือ ยืนยันเริ่ม 12 หลังแรก 3 ก.ย.นี้
นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา นำเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา สำนักงานเขตพระนคร และเจ้าหน้าที่เทศกิจ ลงพื้นที่นำป้ายประกาศติดบริเวณรอบป้อมมหากาฬ 5 จุด เพื่อชี้แจงขอความร่วมมือในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ก่อนวันที่ 3 ก.ย.นี้ ตามคำสั่งศาล โดยมีชาวบ้านบางส่วนมาสังเกตการณ์
นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า เป้าหมายวันนี้คือการติดประกาศด้านนอกเท่านั้น เนื่องจากชุมชนรับทราบนโยบายแล้ว จากนั้นจะทำหนังสือส่งถึงประชาชนที่ยังอยู่ในชุมชน โดยยืนยันว่า กทม.จะรื้อเพียง 12 หลังแรกที่ยินยอมให้รื้อถอนในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ส่วนกรณีมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุถึงทางออกที่สามารถแก้กฎหมายนั้น คงดำเนินต่อไป แต่การรื้อถอน กทม.ก็ต้องปฏิบัติตามตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการสร้างความเข้าใจมีมาตลอด ขณะที่ชุมชนได้หารือกับผู้บริหารอยู่แล้ว แต่ตั้งเป้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้ง 56 หลังให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นายศักดิ์ชัย กล่าวด้วยว่า จะนำหนังสือที่ กท 0908/1733 ลงวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งเป็นจดหมายถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารเรื่องขอความร่วมมือในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เวนคืนบริเวณป้อมมหากาฬ เนื่องจาก กทม.มีความจำเป็นต้องเข้าใช้พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่สั่งการและตามนโยบายรัฐบาลในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อจัดสวนสาธารณะให้ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมอนุรักษ์โบราณสถานของชาติสำหรับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อนันทนาการประกอบกิจกรรมการละเล่นทางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงขอความร่วมมือโปรดหรือถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของสัมภาระออกจากพื้นที่ เพื่อให้ กทม.สามารถเข้าดำเนินการปรับปรุงพื้นที่โดยสะดวก
อย่างไรก็ตาม กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา ยินดีสนับสนุนช่วยเหลือในการรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างและสิ่งของสัมภาระ ประชาชนสามารถแจ้งความประสงค์กับสำนักงานเขตพระนครได้ภายในวันที่ 3 ก.ย.นี้ หากเลยเวลาตามที่กำหนด กทม.มีความจำเป็นต้องดำเนินการหรือถอนอาคารตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ด้านนายพรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวยืนยันว่า อีก 44 หลังคาเรือนที่เหลือ ซึ่งมีประชาชน 218 คนจะไม่ย้ายออกเพราะอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีทะเบียนบ้าน หากจะรื้อถอนบ้านก็เอาชีวิตไปด้วย ขณะที่ 12 หลังแรกที่ยินยอมให้ กทม.รื้อ เป็นเพราะ กทม.เพิ่มเงินค่ารื้อถอนให้อีก 50,000 บาท อีกทั้ง 12 หลังดังกล่าวเพิ่งย้ายมาอยู่หลังปี 2516 ไม่ได้อยู่ต่อสู้เหมือนกับ 44 หลังคาเรือนที่ร่วมกันต่อสู้มากว่า 24 ปีที่ผ่านมา. – สำนักข่าวไทย