กทม. 1 ก.ค.-กรมการขนส่งทางบก เสนอแนวทางแก้ปัญหารถแท็กซี่และวินรถจักรยานยนต์ ที่ต้องแข่งขันกับแอปฯ ให้บริการเรียกรถจากค่ายต่างๆ
ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนถูกต้องกว่า 80,800 คัน ในจำนวนนี้เป็นแท็กซี่ โอเค ที่มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและอุปกรณ์เพิ่มปลอดภัยแบบใหม่ เกือบ 20,000 คัน ขณะที่มีรถจักรยานยนต์รับจ้างกว่า 100,000 คน มีวินทั่วกรุงเทพฯ 5,000 วิน การเข้ามาของแอปพลิเคชันเรียกรถของผู้โดยสาร สร้างโอกาสในการหารายได้ แต่ก็พบปัญหาจากช่องโหว่ของกฎหมายที่เปิดทางให้มีรถส่วนบุคคลออกมาวิ่งรับคนแข่งกับรถสาธารณะ
กรมการขนส่งทางบก ให้ข้อมูลว่า ประเด็นของรถจักรยานยนต์รับจ้างที่มีปัญหารับคนในเขตพื้นที่ทับซ้อนนั้น มีการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมทั้งเจ้าของแอปฯ มาทำความเข้าใจและมีข้อตกลงร่วมกันว่า วินที่เป็นสมาชิกแอปฯจะรับผู้โดยสารได้ในระยะไม่เกิน 200 เมตร จากจุดที่ตนอยู่ ซึ่งหากทุกคันปฏิบัติตามจะไม่เกิดความขัดแย้ง
การแก้ปัญหาการนำรถส่วนบุคคลมาวิ่งรับผู้โดยสารผ่านแอปฯ มีการตรวจจับผู้กระทำผิดมาโดยตลอด แต่จะยากมากหากไม่มีผู้มาแจ้ง ซึ่งผู้โดยสารควรใช้บริการเฉพาะรถป้ายเหลืองถูกกฎหมายเท่านั้น ส่วนประเด็นการกำหนดให้แท็กซี่จดทะเบียนใหม่ต้องติดตั้งระบบแท็กซี่โอเค ที่ผ่านมาได้ผลดีเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลโดยตรงกับศูนย์บริการสื่อสารสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันที แต่ยอมรับว่าระบบแอปฯ แท็กซี่โอเค นั้นยังมีข้อผิดพลาดในการใช้งาน ซึ่งตอนนี้วางแนวทางเตรียมให้เอกชนที่จะเปิดให้บริการแอปฯเรียกผู้โดยสาร สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบแท็กซี่โอเค เพื่อนำไปใช้พัฒนาระบบแข่งขันกันต่อไปในอนาคต
ผลงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ศึกษาแนวทางการพัฒนาเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการรถแท็กซี่ พบว่าเมื่อเทียบต้นทุนและรายจ่าย ของขับรถแท็กซี่มีรายได้ไม่เพียงพอกับสภาพในปัจจุบัน ทำให้ผู้ขับแท็กซี่ส่วนใหญ่จึงพยายามหารายได้เพิ่มโดยการวิ่งรถ มากกว่า 1 กะต่อวัน และจะเลือกรับผู้โดยสารที่จะวิ่งไปในเส้นทางที่ไม่ขาดทุนเท่านั้น
มีข้อเสนอทางออกต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อแก้ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร คือ การปรับเพิ่มค่าโดยสารขณะค่ารถติด จากเดิมนาทีละ 2 บาท เป็น 3 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่า รถแท็กซี่ที่จะได้รับสิทธินี้จะต้องจดทะเบียนเป็น TAXI OK เท่านั้น แต่ข้อเสนอการปรับขึ้นราคานั้นยังไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ การเข้ามาของแอปพลิเคชั่นทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกที่มองว่าดีกว่า นอกจากมาตรการด้านความปลอดภัยที่รัฐควรต้องออกกฎมาควบคุมให้ได้แล้ว ยังพบการให้บริการของแอปฯ ที่มีความยืดหยุ่นของราคา แต่ไม่ได้เปิดเผยวิธีการคำนวณและเพดานราคาที่ตามหลักต้องยึดกับกฎหมาย
ข้อมูลจากทีดีอาร์ไอยังพบว่า ในต่างประเทศ อย่างสิงคโปร์ มีการแข่งขันของบริษัทที่ให้บริการแท็กซี่ผ่านแอปฯ หลายราย ซึ่งสามารถกำหนดราคาที่ต่างกันได้ แต่ทุกรายอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับเดียวกัน เกิดการแข่งขันในการให้บริการที่ดีที่สุดต่อผู้โดยสาร ส่วนความเป็นไปได้ในประเทศไทยนั้น นักวิชาการมองว่า ต้องมีการศึกษาละเอียดอีกครั้งเพราะด้วยข้อจำกัดที่มีผู้ให้บริการแท็กซี่จำนวนมาก อาจจะยากต่อการควบคุมให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เดียวกันได้.-สำนักข่าวไทย