กรุงเทพฯ 7 มิ.ย.- หนึ่งในผลงานสำคัญเมื่อครั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือ การแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แก้วิกฤติชาวนาไทย และจัดทำแผนพัฒนาชนบทยากจน เป็นรัฐบาลเดียวของไทยที่มีแผนเป็นรูปธรรม และเจตนารมณ์นี้ยังมีอยู่ตลอดมาตราบจนสิ้นลมหายใจ
บ่อน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังถูกขุดอยู่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างงานในชนบท ตาม “แผนพัฒนาชนบทยากจน” ที่ริเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529 เป็นต้นมา
อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชการทีดีอาร์ไอ ให้ข้อมูลว่า ช่วงปี 25 ไทยประสบภาวะเอลนีโญ ทำให้ฝนแล้ง ขณะที่ต่างประเทศมีนโยบายอุดหนุนและส่งเสริมสินค้าเกษตรของประเทศตนเอง โดยเฉพาะข้าว ทำให้ราคาข้าวของไทยตกต่ำ เกษตรกรขายข้าวไม่ได้ราคา ขาดแหล่งน้ำ ทำนาได้ปีละครั้ง ที่สุดจึงเกิดโครงการสร้างงานในชนบทขนาดใหญ่ สร้างแหล่งน้ำในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง สร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่กำลังเจอวิกฤติราคาข้าว ถือเป็นนโยบายแรกๆ ในการพัฒนาพื้นที่ชนบทของรัฐบาล พล.อ.เปรม ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ส่งผลกระทบหนักต่อไทย ซึ่งเป็นผู้นำส่งออกข้าวมาโดยตลอด รัฐบาลพยายามหาทางแก้ปัญหา หนึ่งในทางเลือก คือ การเสนอยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งออก หรือที่เรียกว่า “ค่าพรีเมียมข้าว” ซึ่งมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ค่าพรีเมียมข้าวจะเรียกเก็บจากผู้ส่งออก แต่ภาระนี้ก็ถูกผลักไปเป็นทอดๆ ผ่านการกดราคา สุดท้ายภาระก็ไปตกอยู่ที่ชาวนา ความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย แต่เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเห็นพ้องยกเลิกค่าพรีเมียมข้าวปี 28 ส่งผลราคาข้าวในประเทศลอยตัวใกล้เคียงราคาตลาดโลก แก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
นักวิชาการวิเคราะห์ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาชนบทและการเกษตรที่เกิดขึ้น ส่วนสำคัญมา พล.อ.เปรม เลือกใช้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการทำงาน รับฟังความคิดเห็นของทีมงาน เมื่อมีความเห็นแย้งกันจะใช้วิธีการนิ่งรับฟัง นำข้อมูลวาคิดวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจ ไม่โต้ตอบในทันที ไม่โกรธ ทำให้คนอยากทำงานด้วย
ความเป็นห่วงประชาชน เป็นสิ่งสำคัญที่ พล.อ.เปรม มีให้เห็นผ่านภารกิจและโครงการต่างๆ และแม้ในวันที่ พล.อ.เปรม ล่วงลับไปแล้ว แต่ความตั้งใจสุดท้ายที่ต้องการบริจาคทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ชาวบ้านผู้ยากไร้และเกษตรกร กำลังจะได้รับการสานต่อให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย