กรุงเทพฯ 20 พ.ค. – สมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการตัดสิน “สุดยอดข่าวอาชญากรรมแห่งปี 2561” โดยสำนักข่าวไทย อสมท คว้ามา 5 รางวัล มีรางวัลใดบ้าง ติดตามจากรายงาน
ข่าว “ถูกสวมคดีที่พิมาย” ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาโทรทัศน์ ประเภทข่าวสืบสวนสอบสวน
รายงานพิเศษชิ้นนี้ ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 กระทั่งมาถึงบทสรุปของคดี เรื่องราวของหลานชายอายุ 22 ปี และเพื่อนวัย 18 ปี ที่ถูกตำรวจ สภ.พิมาย จ.นครราชสีมา จับกุมฐานชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ แต่กลับถูกนำไปสวมคดีฆ่าแม่ต่อหน้าลูกชายวัย 8 ขวบ เมื่อทีมข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอน ภายหลังอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สภ.พิมาย สอบสวนใหม่ทั้งหมด พร้อมสอบปากคำทีมข่าวสำนักข่าวไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คดีพลิก นำมาสู่อิสรภาพของ 2 วัยรุ่น
ข่าว “ทะเบียนสมรสอำพราง” ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 สาขาโทรทัศน์ ประเภทข่าวช่วยเหลือสังคม
รายงานพิเศษชิ้นนี้ มุ่งไปที่กลุ่มลักลอบเข้ามาอยู่ในเมืองไทยอย่างผิดกฎหมาย หรือ Overstay ลักลอบจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐสมรู้ร่วมคิด อุปสรรคสำคัญคือ การเข้าถึงแหล่งที่อยู่หรือตัวชายต่างชาติเหล่านี้ และการตามหาหญิงไทยที่ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้แต่งงาน เนื่องจากหลายคนกลัวจะมีความผิดไปด้วย หลังข่าวนี้ถูกนำเสนอ ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งกวาดล้างกลุ่ม Overstay อย่างเข้มข้น จับกุมได้อีกจำนวนมาก และเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่เคยเกิดการทุจริต
“อันตรายสุขภาพ ฟ้องศาลคดีผู้บริโภค” รางวัลชมเชย สาขาโทรทัศน์ ประเภทข่าวช่วยเหลือสังคม
ผู้เสียหายใช้โลชั่นอวดอ้างสรรพคุณที่ช่วยให้ขาวใส แต่กลับแพ้อย่างรุนแรง แพทย์ผิวหนังชี้ว่า เกิดจากการใช้ครีมที่มีสารสเตียรอยด์ ชื่อว่า โคลเบทาซอล พบผู้เสียหายแบบเดียวกันหลายสิบราย นำมาสู่การฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มที่ศาลรับฟ้องเป็นคดีแรกของไทย คดีนี้ศาลคดีผู้บริโภคพิพากษาให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายชนะคดี และให้บริษัทผู้ผลิตจ่ายค่าเสียหายการรักษา กลายเป็นคดีตัวอย่างของผู้บริโภค
“หมู่บ้านหรูรุกป่าสงวนฯ” รางวัลชมเชย สาขาโทรทัศน์ ประเภทข่าวช่วยเหลือสังคม
หลังจากทีมข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้ซื้อบ้านโครงการหรูใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า ที่ดินบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบ ศึกษาโฉนดที่ดินของทั้งโครงการ การเปลี่ยนมือ ผู้ถือโฉนด เมื่อข่าวนี้ถูกนำเสนอ ร้อนถึงกรมที่ดิน เมื่อตรวจสอบยืนยันว่าไม่อยู่ในเขตป่าสงวน ขณะที่กรมป่าไม้ตรวจสอบกลับพบว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ถาวร ซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้เช่นกัน คดีนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการศาล เมื่อผู้เสียหายฟ้องเรียกคืนเงินที่จ่ายไปแล้วเกือบ 6 ล้านบาท
“ร่างทรงหลอกชาวบ้าน” รางวัลเสื้อสามารถ สาขาโทรทัศน์ ประเภทข่าวช่วยเหลือสังคม
รางวัลสุดท้าย เป็นเรื่องราวข่าวร่างทรงหลอกขุดสมบัติโบราณ อายุกว่า 1,300 ปี แต่กลับแอบนำสิ่งของที่อ้างว่าเป็นสมบัติโบราณ ราคาไม่กี่สิบบาท ไปฝังดินแทน แล้วเรียกเงินจากผู้หลงเชื่อ เสียเงินรายละ 300,000-400,000 บาท เรื่องนี้เกิดขึ้นกับชาวบ้านใน 3 จังหวัดภาคอีสาน ต่อมาชาวบ้านหลายคนเริ่มเอะใจ จึงแจ้งทีมข่าวสำนักข่าวไทยให้ช่วยตรวจสอบ จนพบว่าทั้งหมดคือการหลอกลวง คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกองปราบฯ ผู้เสียหาย 22 คน และศาลอนุมัติหมายจับร่างทรงคนนี้แล้ว. – สำนักข่าวไทย