กรุงเทพฯ 13 พ.ค. – โครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ข้าว 2 แปลงต้นแบบเริ่มเพาะปลูกแล้ว ส่งเสริมปลูกข้าวพันธุ์ดี มีตลาดรองรับ ด้านนักวิชาการเศรษฐศาสตร์หนุน “กฤษฎาโมเดล” ให้เอกชนร่วมลงทุนกับกลุ่มเกษตรกรทำวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ ย้ำภาครัฐเป็นคนกลางกำหนดการจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อธิบดีกรมการข้าวได้รายงานแผนการดำเนินงานวิสาหกิจแปลงใหญ่ข้าว 2 แปลงใหญ่ต้นแบบ ว่า ที่สหกรณ์พรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก 2,000 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 138 ราย โดยจากการหารือร่วมกับผู้จัดการ สหกรณ์ ผู้อำนวยการสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ที่ดูแลการผลิตข้าว กข43 ของกลุ่มนาแปลงใหญ่ ผู้จัดการแปลง กรมการข้าว และผู้แทนบริษัทซีพี ได้ข้อสรุปว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่กลุ่มนี้ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 เนื่องจากเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ ดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นที่นิยมของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเพาะปลูกตั้งแต่เดือนเมษายน โดยปีนี้สหกรณ์ปลูกเป็นปีที่ 2 จึงมีแผนบริหารจัดการเชิงธุรกิจครบวงจร นำผลผลิตส่งซีพีและสหกรณ์ผลิตจำหน่ายเองส่วนหนึ่ง เมื่อถึงหน้าแล้งจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โดยร่วมกับซีพีบริหารจัดการเชิงธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกการให้บริการแก่สมาชิกนาแปลงใหญ่โดยสหกรณ์ และซีพีรับซื้อคืน
ส่วนอีกแปลง คือ วิสาหกิจแปลงใหญ่ข้าวตำบลโพนข่า อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้เหมาะปลูกข้าวหอมมะลิเกษตรกรร่วมโครงการ 90 ราย พื้นที่ 1,200 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ร่วมกับบริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการไถเตรียมแปลง โดยจะเริ่มเพาะปลูกฤดูฝนนี้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
“แปลงใหญ่ข้าวต้องปลูกตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องสีโรงสีที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ข้าวทั้ง 2 ชนิดเป็นข้าวคุณภาพดี การปลูกแบบแปลงใหญ่สามารถควบคุมตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ไม่ให้มีข้าวสายพันธุ์อื่นเจือปนได้ รวมถึงมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากแปลงใด ซึ่งกรมการข้าวจะออกเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ให้” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์วิษณุ อรรถวาณิช คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การทำเกษตรกรรมร่วมกับภาคเอกชนนั้น มีดำเนินการหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย รวมถึงโครงการที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดทำ เนื่องจากหากเกษตรกรดำเนินการเองอาจมีศักยภาพการผลิตและการตลาดไม่ครบวงจร เมื่อภาคเอกชนเข้ามาสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ลงทุนด้านเครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงรับซื้อ แปรรูป และหาตลาด ดังนั้น โครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้เป็นโครงสร้างการทำเกษตรแผนใหม่ของประเทศ จึงจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ของเกษตรกรได้ ทั้งนี้ ระยะต้นภาครัฐต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้องค์ประกอบ 3 Ps ได้แก่ Public Private และPartnership ทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ โดยอาจดึงภาคการศึกษามาร่วมด้วย
“กระทรวงเกษตรฯ ต้องกำหนดกติกาต่าง ๆ ให้ชัดเจน แต่เริ่มต้นในทางเศรษฐศาสตร์นั้น รัฐควรสร้างแรงจูงใจให้ทั้งกลุ่มเกษตรกรและเอกชนที่มาลงทุน มีรูปแบบบริหารจัดการตามบทบาทที่วางไว้ เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม เป็นการปฏิรูปการทำเกษตรกรรมไปสู่ความยั่งยืน” รองศาสตราจารย์วิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย