กรุงเทพฯ 23 ส.ค. – นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ มีผลเดือนเมษายน 2560 โดยหลักเกณฑ์หนุนผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสอิงกระทรวงการคลังเป็นหลัก
นายทวารัฐ เปิดเผยว่า ได้รายงานวานนี้ (22 ส.ค. ) แก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับทราบรายงานความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอและมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ โดยให้นำข้อคิดเห็นของกระทรวงต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาด้วย และเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ กลับไปยัง ครม.ให้ความเห็นชอบ แล้วจึงส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวจะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณเดือนเมษายน 2560
ทั้งนี้ ตามร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนด้านการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ระดับเหมาะสม สนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ บรรเทาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันในกิจการของรัฐ สำหรับความมั่นคงด้านพลังงาน และดำเนินการการอื่นใดเกี่ยวกับบริหารกองทุนฯ ตาม ร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องมีการกำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักรองรับ ได้แก่ แผนดำเนินการกองทุน แผนป้องกันภาวะวิกฤติและแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
“ส่วนการอุดหนุนจะรอดูคำกำหนดความของกระทรวงการคลังเรื่องผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสควบคู่กันไป ซึ่งการอุดหนุนทั้งน้ำมัน เอ็นจีวี หรือแอลพีจี พลังงานทดแทนก็จะมาจากส่วนนี้ทั้งหมดจากเดิมมาจาก ปตท.บางส่วน รวมทั้งเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการอุดหนุนราคาป้องกันวิกฤติก็ต้องมากำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม โดยเป้าหมายหลักจะดำเนินการก็ต่อเมื่อกองทุนฯ มีสภาพคล่องเท่านั้น”นายทวารัฐ กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ ปตท.ระบุว่าหากร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ มีผลบังคับใช้ ภาระการอุดหนุนราคาเอ็นจีวีและแอลพีจี ก็จะดำเนินการโดยกองทุนน้ำมันฯ หากเปรียบเทียบกับราคาปัจจุบัน ปตท.ก็จะช่วยลดภาระการอุดหนุนส่วนนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี .-สำนักข่าวไทย