กรุงเทพฯ 17 ก.พ. – คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ คาดเริ่มก่อสร้างปี 2561 และผลิตไฟฟ้าได้ปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 หลังโครงการนี้ล่าช้ามา 2 ปี
แม้ว่าจะมีความเห็นขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ จนทำให้โครงการล่าช้ามานาน 2 ปี จากเดิมกำหนดสร้างเสร็จปี 2562 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งชะลอโครงการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้โครงการนี้ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ชำนาญการในส่วนของการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ต้องชะลอการพิจารณา
ในวันนี้ กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบให้เดินหน้าโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเห็นชอบให้ดำเนินการตามข้อกฏหมายที่กำหนด คือ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณารายงานEIA/EHIA โดยนำความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีฯ ไปประกอบการพิจารณาต่อไป ซึ่งข้อเสนอแนะให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการติดตามตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้า ขยายเขตกองทุนพัฒนาพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าเกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการขนส่งถ่านหินและให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ รวมทั้งบริหารจัดการพื้นที่โครงการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
“ตามแผนคาดว่าโรงไฟฟ้ากระบี่จะสร้างเสร็จปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 ดังนั้น การพิจารณาแผน EHIA ก็คงต้องเสร็จปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างปีหน้า ซึ่งการที่ล่าช้าไป 2 ปี ขณะนี้ได้มีการก่อสร้างสายส่งเพิ่ม เพื่อส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้รองรับ แต่เพื่อความมั่นคงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่อันดามัน รองรับด้านการท่องเที่ยวและอื่น ๆ โดยข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้โตขึ้นถึงร้อยละ 4.7 ส่วนภาคกลางโตเพียงร้อยละ 3.7 กทม.โตเพียงร้อยละ 2.4” นายทวารัฐ กล่าว
ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า แม้จะมีผู้คัดค้านโครงการ แต่ก็เห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกพื้นที่ คนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นด้วย ซึ่งผู้คัดค้านจะดำเนินตามอุดมการณ์ คือ คัดค้านการก่อสร้างโรงถ่านหินทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ผิด แต่ในส่วนของประเทศก็ต้องเลือกการกระจายเชื้อเพลิง และเลือกเทคโนโลยีที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือ การหม้อต้มไอน้ำแบบ Ultra-supercritical ที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและคาร์บอนไดออกไซด์ กว่าร้อยละ 20 อุปกรณ์กำจัดมลภาวะ อาทิ เครื่องดักฝุ่นประสิทธิภาพร้อยละ 99 เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน ประสิทธิภาพร้อยละ 97 – 99 เครื่องกำจัดไอปรอท เป็นต้น ซึ่งการลงทุนอุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 30 ของราคาโครงการ
ทั้งนี้ กพช.เห็นชอบเดินหน้าโรงไฟฟ้ากระบี่ เป็นหนึ่งในแผนงานสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้อยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของระบบ กฟผ.อยู่ที่ 2,713 เมกะวัตต์ และหากเกิดกรณีวิกฤติหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่หยุดกะทันหันจะส่งผลให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ สนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) จึงได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2564
พร้อมกันนี้ที่ประชุม กพช.ยังเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) โดยรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไม่เกิน 12 เมกะวัตต์ และจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชน. – สำนักข่าวไทย