ดีเอสไอ 30 เม.ย..- ดีเอสไอร่วมกับ ม.มหิดล จัดกิจกรรม DSI Campus tour season 3 ให้ความรู้อาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังพบภัยไซเบอร์ต่อเนื่อง เตือนนักศึกษาอย่าหลงเชื่อ อาจเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมฯเเละพ.ร.บ.ความมั่นคงได้
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์กรมสอบสวนคดีพิเศษในกิจกรรม DSI Campus tour season 3 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้น เพื่อให้ความรู้เเละถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินงานในคดีอาชญากรรมรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะอาชญากรรมในเทคโนโลยีสารสนเทศในกับนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายพิเศษเรื่องป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ การจัดนิทรรศการเรียนรู้กฎหมายเข้าใจคดีพิเศษเเละการโชว์นวัตกรรมการยิงปืนจำลองสถานการณ์เเละนวัตกรรมเทคโนโลยีสนับสนุนการสืบสวนคดีพิเศษที่ได้รับรางวัลประจำปี 2561 ซึ่งมีนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก เเละอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 170 คน
พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า อาชญากรรมไซเบอร์ถือเป็นภัยใกล้ตัว เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เเม้จะมีข้อดีคือทำให้การเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว เเต่บางครั้งอาจเป็นข้อมูลเท็จเเละอาจเอื้อให้ข้อมูลผู้ประสงค์ร้ายได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาชญากรรมประเภทนี้ผู้กระทำความผิดใช้วิธีการซับซ้อน
เจาะข้อมูลที่ยากได้อย่างง่ายดายเเละท้าทายกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้บางครั้งเจ้าหน้าที่เองก็โดนหลอกเช่นกัน จึงอยากฝากให้นักศึกษาระวังตัวเเละวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆก่อนตัดสินใจเชื่อ ไม่ต่างจากการแชร์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ที่หากไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเเล้วเเชร์ข้อความออกไป อาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และพระราชบัญญัติความมั่นคง ซึ่งข้อมูลในอินเตอร์เน็ตนั้นรวดเร็วมาก และบ่อยครั้งที่พบว่าเป็นข้อมูลเท็จเเละบิดเบือนจากความจริง
ขณะเดียวกันการหลอกลวงให้ทำธุรกรรมหรือลงทุนในอินเตอร์เน็ต เช่น เเชร์ลูกโซ่ ก็พบเป็นจำนวนมากในระยะหลัง ซึ่งจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกหลอกเป็นคนมีความรู้เเละการศึกษาเเต่กล้าเสี่ยงจนถูกหลอกได้ง่าย เตือนนักศึกษาว่าไม่ควรไปเสี่ยงหรือเข้าไปเกี่ยวพัน เพราะอาจนำไปสู่การเป็นผู้เสียหายเเละผู้ต้องหาได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ใน 8 มหาวิทยาลัย เพราะอยากให้ทุกคนได้ความรู้นำไปถ่ายทอดกับครอบครัวเเละร่วมเป็นเครือข่ายเเจ้งเบาะแส นำไปสู่การขยายผลจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพื่อช่วยกันป้องกันอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต เพราะปัจจุบันอาชญากรรมไซเบอร์ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ด้านนายนพดล วณิชวรนันท์ รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยฝ่ายบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิตัล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กิจกรรมนี้ช่วยให้ความรู้กับนักศึกษาเพื่อรับมือเเละป้องกันตนเองจากภัยไซเบอร์ ซึ่งการเรียนรู้ปัจจุบันนอกจากให้ความรู้ด้านวิชาการเเล้ว จำเป็นต้องฝึกทักษะการดำรงชีวิตด้วย เเละหวังให้นักศึกษานำความรู้ไปเผยเเพร่ต่อผู้อื่นด้วย.สำนักข่าวไทย.