กรุงเทพ ฯ 18 เม.ย. – PwC เผยรายงานพบตลาดหุ้นนิวยอร์ก-แนสแด็ก-ลอนดอน และฮ่องกง จะได้รับความสนใจการลงทุนจากนักลงทุนมากที่สุดในปี 2573 พร้อมระบุตลาดหุ้นไทยติดอันดับตลาดหุ้นที่จะมีบริษัทเข้ามาระดมทุนสูงที่สุดของโลก
นายบุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี ด้านธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Capital Markets in 2030 ที่ทำการสำรวจผู้บริหารจำนวนเกือบ 400 รายทั่วโลก พบว่า ตลาดหลักทรัพย์ในโลกที่นักลงทุนสนใจพิจารณาลงทุนมากที่สุดในปี 2573 นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ในประเทศของตนเอง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ที่ร้อยละ 37 ตามมาด้วยตลาดหุ้นแนสแด็ก ที่ร้อยละ 26 ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ที่ร้อยละ 24% และ ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่ร้อยละ 24 เท่ากัน
ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่บริษัททั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ให้ความสนใจ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตให้ธุรกิจ ซึ่งข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) จำนวนทั้งสิ้น 305 บริษัท มีมูลค่าระดมทุนถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 770,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ การที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยติด 1 ในตลาดชั้นนำที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทเข้ามาระดมทุนมากที่สุดในโลกในปี 2573 เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย ซึ่งตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจไม่แพ้ตลาดอื่น ๆ เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่ให้ต้นทุนทางการเงินที่ถูก สภาพคล่องในการซื้อขายถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีความรู้ทางการเงินเพิ่มขึ้นและหันมาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้ กฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแล ก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลักทรัพย์ที่เข้ามาจดทะเบียนนั้นมีคุณภาพมากขึ้น เชื่อว่าระยะยาวตลาดหุ้นไทยจะยิ่งดึงดูดการลงทุนของบริษัททั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ แผนการสร้างตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของ ตลท.ก็น่าจะช่วยเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัลและสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยโดยรวมได้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวนของบริษัทที่ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) พบว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ร้อยละ 55 เป็นประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีผู้ทำการระดมทุนมากที่สุดในปี 2573 ตามด้วยอินเดีย ร้อยละ 45 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 41 บราซิล ร้อยละ 21 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 18 แม้จะมีปัจจัยความกังวลเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก็ตาม โดยทั้งจีนและอินเดีย ยังเป็น 2 ประเทศผู้นำในการจัดอันดับประเภทนี้จากผลสำรวจคราวก่อน นอกจากนี้ สภาพคล่อง (Liquidity) ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกสำหรับนักลงทุนในการเลือกแหล่งที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำการเข้าจดทะเบียน โดยผู้ถูกสำรวจถึงร้อยละ 49 นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องของการประเมินมูลค่า (Valuations) ร้อยละ 32 และต้นทุนในการจดทะเบียน ร้อยละ 29 ก็มีผลต่อการตัดสินใจระดมทุนของบริษัท
ผลสำรวจยังชี้ด้วยว่าตัวเลือกในการระดมทุนของบริษัทได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยร้อยละ 76 ของผู้ถูกสำรวจเชื่อว่าปัจจุบันมีตัวเลือกในการระดมทุนมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนในตลาด หรือนอกตลาด ทั้งในส่วนของตลาดที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ร้อยละ 55 ของผู้ถูกสำรวจ ยังมองว่าไพรเวทอิควิตี้ (Private Equity) หรือการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Private company) เป็นตัวเลือกของการระดมทุนนอกตลาดที่มีความน่าดึงดูดมากที่สุด.-สำนักข่าวไทย