รัฐสภา 8 พ.ค.- “หมออ๋อง” จี้ถามสร้างอาคารจอดรถเพิ่ม ฝ่ายการเมืองจะเอาเป็นดำริประธานหรือไม่ เหน็บฉากหลังบัลลังก์ ถ้าเยอะไปก็เหมือนโรงลิเก “ไอติม” บอกความเงียบคือคำตอบ เหวอปรับปรุงศาลาแก้ว เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร
ในการคณะกรรมาธิการ พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า สิ่งที่ที่ประชุมจะเดินได้จะต้องมีแบบอาคารเดิม ซึ่งในตอนที่ตนดำรงตำแหน่งรองประธานสภาได้ขอแบบอาคารเดิมไปแล้ว ได้มาเป็นแบบวิศวกรรมอ่านแล้วไม่เข้าใจ เช่นเรื่องภาพหลังบัลลังก์ ของเดิมเป็นอย่างไรไม่ทราบ กลับได้คำตอบมาว่าให้ไปขอข้อมูลจากชิโนทัย ซึ่งเป็นบริษัทผู้ก่อสร้าง ทั้งที่ควรจะมีแบบเดิมตั้งแต่แรก และอีก เรื่องการจ่ายเงินที่ปรึกษา ที่ตนไม่เคยเห็นรายงานของที่ปรึกษามาก่อน
ด้านนายพฤหัส ปราบปรี ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารจัดการและบริการสถานที่ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอาคารสถานที่ ชี้ กล่าวตอบว่า หากต้องการแบบอาคารเดิมต้องขอกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงรายงานของที่ปรึกษาด้วย
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการ พัฒนาการเมืองฯ ได้ถามถึงความจำเป็น ของการของบประมาณทำโครงการอาคารที่จัดจอดรถเพิ่มเติม มูลค่า 1,522 ล้านบาทว่า จำเป็นแค่ไหน ทำไมถึงไม่พอแล้วตามแบบดั้งเดิมของอาคารใหญ่ขนาดนี้ ต้องมีการคาดการณ์จำนวนอาคารจอดรถไว้เท่าใด เหตุใดจึงเปิดทำการไม่ถึง 5 ปี จึงจำเป็นที่ต้องเพิ่มจำนวนที่จอดรถ
นายอรุณ ลายผ่องแผ้ว ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย กล่าวว่า เดิม เรื่องที่จอดรถขึ้นกับสำนักความปลอดภัย แต่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษา 3 คณะ เนื่องจากพื้นที่รัฐสภาเป็นอาคารขนาดขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยเกิน 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ตามข้อบัญญัติของกทม. ที่จอดรถ 1 คัน ต้องมีขนาด 120 ตารางเมตร จะต้องมีที่จอดรถหนึ่งคัน แต่แบบที่มีอยู่มีที่จอดรถไม่เพียงพอ มีช่องจอดเพียง 1,935 คัน เราเคยจัดหาและแก้ไขมาหลายวิธีคือการจัดหาพื้นที่บริเวณนอกรอบเพื่อเป็นสถานที่จอดรถชั่วคราว ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก จากการศึกษาของคณะอนุกรรมธิการคือการใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 21 ไร่ เจาะลงไปที่ด้านล่าง ความลึก 11 เมตร ซึ่งจะได้ใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพจอดรถได้สูงสุด 4600 คัน
ส่วนการบริหารจัดการที่จอดรถแม้จะไม่ได้ล็อกช่องจอดให้สมาชิกแต่มีการล็อคพื้นที่ในวันประชุมวันจันทร์ วันอังคารจะล็อกพื้นที่ให้ฝั่ง สว. ส่วนวันพุธวันพฤหัส ล๊อกพื้นที่ สส. 500
ด้าน นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากแบบผิดกฎหมาย ผู้รับผิดชอบต้องไม่ใช้ภาษีประชาขนในการแก้แบบ ถ้าแบบเป็นไปตามข้อข้อบัญญัติของ กทม. สัญญาเขียนว่าใครต้องรับผิดชอบ คนทำแผนหรือคนอนุมัติแผน
นายปกาสิต จำเรือง ผู้อำนวยการสำนักอาคารสถานที่ กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้บริหารสมัยนั้น ตนเองมาบริหารทีหลังจึงไม่รู้ว่ารับแบบมาถูกหรือไม่ การก่อสร้างสร้างตามแบบอยู่แล้ว อย่างไรเชื่อว่ากรรมการคงจะตรวจรับตามแบบ แต่ที่พวกตนนิ่ง เพราะไม่รู้ในสิ่งที่ ท่านถาม
ด้าน นายพริษฐ์ จึงขอให้ส่งเอกสารทั้งหมดให้คณะกรรมาธิการ ตรวจสอบว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อบอก ว่า เราต้องยอมรับตรงๆ ว่าการออกแบบผิดกฏหมายข้อบัญญัติ กทม. ที่จะต้องมี 3500 ช่องจอด
ขณะเดียวกันนายพริษฐ์ ยังติดใจเรื่องการโอนงบประมาณว่าใช้วิธีใด ถ้าเป็นโครงการใหม่ต้องขออนุมัติงบหรือต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือ ครม.ซึ่งนายเจษฎา และเจ้าหน้าที่การคลัง บอกว่า เป็นเรื่องระเบียบรัฐสภา สามารถโอนงบประมาณเหลือจ่ายได้ ทำให้นายพริษฐ์ ระบุว่าคณะกรรมการตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา (คบง.รส.) ซึ่งมีประธานสภาฯ เป็นประธานนั้น มีศักดิ์ ต่ำกว่า พ.ร.บ.งบประมาณ
อย่างไรก็ตามการพิจารณาเรื่องอาคารจอดรถในวันนี้ ยังไม่ได้ขอสรุป โดยนายพริษฐ์ ได้ขอเอกสารโอนเปลี่ยนงบประมาณย้อนหลัง 5 ปี
ด้านนายประดิพัทธ์ กล่าวว่า การใช้งบเหลือจ่ายใช้ยากมาก ตนเคยขอจัดซื้อเครื่องกรองน้ำ มูลค่า 8,000 บาท แต่ไม่สามารถใช้วิธีแบบนี้ได้
พร้อมถามข้าราชการที่มาชี้แจง ว่า ตกลงฝ่ายการเมืองเค้าจะเอาใช่ไหม อาคารที่จอดรถ ตนเห็นใจเจ้าหน้าที่ ถ้าประชาชนไม่มีที่จอดรถเป็นเรื่องของคุณ แต่ถ้าเป็นเรื่องผู้ใหญ่ไม่มีที่จอดรถ พวกเขาโดนตำหนิ และยังมีผู้ติดตาม สว. เพิ่มขึ้น ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่โดนอะไรบ้าง คิดว่าเจ้าหน้าที่โดนกดดัน แต่อยากถามว่าวิธีที่ให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เป็นนโยบายของใครเป็นดำริของประธานสภาใช่หรือไม่ เป็นนโยบายของไทยกันแน่ ที่ทำให้ท่านต้องมาตอบคำถาม ที่กระอักกระอ่วนเช่นนี้ และกังวลได้ขนาดนี้ ไม่ต้องบอกว่าเป็นประธานสภาก็ได้ และนายประดิพัทธ์ ยังบอกด้วยว่า นายพิเชษฐ์ เชื้้อเมืองพาน รองประธานสภา เป็นคนคุม 2 สำนักนี้ คือ สำนักอาคารสถานที่ และสำนักความปลอดภัย ที่ถาม เพราะเลขาฯ สภา มีหน้าที่สนองนโยบายตามดำริของประธานสภา ถามว่าเคยมีเอกสารหรือไม่ หรือว่าเป็นการสั่งปากเปล่า เรื่องราวที่ให้พวกท่านทำผิดระเบียบแบบนี้ ซึ่งทำให้ผู้ที่มาชี้แจงเงียบทั้งห้องประชุม จนนายพริษฐ์ บอกว่าความเงียบมันก็ส่งเสียงของมัน ความเงียบคือคำตอบ
ด้านว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเลขาสภา บอกว่าประธานสภาเป็นประธาน แต่เวลาประชุม มอบหมายนายพิเชษฐ์ เข้าประชุมแทน ตามที่บอกว่ามีความจำเป็น ก็จะมีการประเมินมาเรื่อยๆ ว่ามีปัญหาเรื่องที่จอดรถ จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างที่จอดรถ และมีการเสนอความจำเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ตนทราบดูจากเอกสารของสำนักความปลอดภัยเสนอมา
จากนั้นที่ประชุมได้ซักถาม ถึงโครงการพัฒนาโรงภาพยนตร์ 4D ซึ่งนายทิตวัจน์ ณรงค์แสง ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานสารนิเทศ ชี้แจงว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด ความจริงคือห้องสารนิเทศ มีไว้ต้อนรับประชาชน เหมือนโรงหนังเล็กๆมีที่นั่งประมาณ 108 ที่นั่ง นอกจากใช้ชมวีดีทัศน์ ยังใช้ในการต้อนรับ และเยี่ยมชมเยี่ยมคารวะ ซึ่งนายทิตวัจน์ เอง ก็สงสัยเหมือนนายพริษฐ์ว่าทำไมตอนก่อสร้าง ไม่มีห้องสารนิเทศ และตนก็ไม่เคยเห็นแบบเช่นกัน
ทำให้นายพริษฐ์ ถึงกับบอกว่า ถ้ามีแบบ แต่ไม่อยู่ในการก่อสร้างก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะย้ำถามถึงความจำเป็น ว่าจะต้องเป็น 4D หรือไม่ เพราะงบ 80% เกี่ยวข้องกับ 4D
ด้านนางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.พรรคประชาชน ถามถึงงบที่ถูกตัดของโครงการ พัฒนาโรงภาพยนตร์ จากเดิมตั้งไว้ 380 ล้านบาท เหลือ 180 ล้านบาท ว่า 200 ล้านบาท คือค่าอะไรที่ถูกตัด ขณะที่กรรมาธิการคนอื่นก็ได้มีการสอบถาม ว่าเหตุใด โรงหนังเอกชน ถึงใช้งบแค่ 50 ล้าน แต่ในที่ประชุมก็ไม่มีคำตอบให้
ขณะที่ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ ชี้แจงว่า ได้แรงบันดาลใจทำโครงการพัฒนาโรงภาพยนตร์ 4D จากการที่ กิจการสภา ไปดูงานของ กฟผ. ที่เป็นจอเสมือนจริง ตั้งใจเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักเรียนและเยาวชนที่จะมาเยี่ยมชมสภา
นายปดิพัทธ์ ตำหนิว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากไหนไม่สำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าเห็นอะไรว้าวก็อยากมีหมด แ
นายทิตวัจน์ กล่าวว่า สภาเป็นของทุกคน สส. สามารถไปเยี่ยมชมได้ แต่ถ้าเรามีโรงภาพยนตร์หรือศูนย์เรียนรู้ มีสื่อที่สร้างสรรค์หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนที่ได้โอกาส เข้ามาชมสภา ก็มีกำลังใจอยากจะทำงานที่สภา หรืออยากจะมาเป็น สส. เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเงิน 180,000,000 ในอนาคตจะแพงกว่านี้ถ้าเราไม่เริ่มต้น แต่ถ้าสส.เห็นว่าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำก็ได้แต่ถ้าจะทำเพื่อประชาชนตนก็สนับสนุน
นายปดิพัทธ์ สวนกลับว่า ในเนื้อหาไม่ได้มีอะไรบอกว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ และรายการทั้งหมด เบิกจ่ายว่าเป็นงบเร่งด่วน อยากจะบอกว่าโครงการนี้น่าจะถูกด่ามากกว่าโครงการที่จอดรถ การสร้างแรงบันดาลใจ กับผู้ที่มาเยี่ยมชมรัฐสภา เจอกันตัวเป็นๆกับสส. กินข้าวร่วมกันจับมือไม่ใช่แค่สัมผัสกันผ่านจอ และถ้าเยาวชนไปดูหน่วยงานด้านความยุติธรรมโตมาก็อาจจะเป็นผู้พิพากษา
ขณะที่นายเจษฎา พรหมย้อย ตำรวจรัฐสภา ชี้แจงเกี่ยวกับงบปรับปรุงศาลาแก้ว เพื่อประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ในส่วนของพื้นที่ต่อเนื่องด้านหน้า จะปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้ผู้ที่จะเข้ามาในอาคารรัฐสภา ได้ใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะศาลาแก้วเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงภูมิทัศน์ การใช้งานทั้งหมดของบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาและรองรับกิจกรรมเกี่ยวกับพระบรมราชานุสาวรีย์ และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะจะใช้เป็นสถานที่ต้อนรับผู้นำประเทศ-ทูตานุทูต เพราะเป็นพื้นที่ต้อนรับอาคันตุกะ ที่มาเยี่ยมอาคารรัฐสภา โดยจะเป็นพิธีการ และเป็นสถานที่จัดเลี้ยง
ด้านนายพริษฐ์ ถึงกับบอกว่า มองหาความเชื่อมโยงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ออก แต่ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์พอจะเข้าใจได้ ซึ่งที่ฟังมาหลักคิดส่วนใหญ่ของศาลาแก้ว คือการใช้ต้อนรับผู้นำต่างประเทศมากกว่าการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนซึ่ง ปฏิกิริยาของประชาชน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็น่าจะบอกได้ การลงทุนก่อสร้างสภาเป็นหมื่นล้าน แต่ยังไม่พอต้องใช้ศาลาแก้วเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์หาความเชื่อมโยงยากจริงๆ
จากนั้นได้มีการสอบถามโครงการ ปรับปรุงฉากหลังบัลลังก์ประธานสภา ซึ่งมีการชี้แจงว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยใช้ทองแดงหนัก 16 ตัน โดยกรมศิลปากรเป็นคนออกแบบ โดยกรรมาธิการมองว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ก็เป็นห่วงความปลอดภัยของประธานสภา และมองว่าไม่จำเป็น สาระสำคัญของห้องประชุมสภาคือการพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่ว่าฉากหลังจะสวยงาม เช่นเดียวกับการปรับปรุงห้อง กรรมาธิการงบประมาณ ก็ไม่เห็นความจำเป็น ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเข้าไปประชุมเพื่อทดลองใช้งานดู พบว่าการใช้งานไม่ได้มีปัญหาอะไร
ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ห้องประชุมถ้าจะออกแบบอะไร ให้สมาชิกดูก่อนได้หรือไม่ ตนมองว่าห้องประชุมถ้ามีอะไรให้ดูมากยิ่งจะไม่ประชุม
“เคยเห็นอย่างเดียวเวลาที่ต้องการฉากหลังอะไรที่เยอะๆ คือโรงลิเก ที่มีจิตกรรมสวยงามอยู่ข้างหลังให้ประชาชนเพลิดเพลินกับโรงลิเก แต่ห้องประชุมควรเป็นห้องประชุม ถ้าจะสื่อสาร 2475 ให้ไปสื่อสารในพิพิธภัณฑ์ดีไหม พุทธศาสนาไปสื่อสารที่วัด สำคัญที่สุดที่อยากรู้แบบที่ส่งมอบข้างหลังมันเป็นอย่างไร ตอนนี้คงไม่ได้สงสัยว่ามันสวยไม่สวย ประชาชนก็จะถามตน ตกลงข้างหลังเสร็จหรือยัง ทำไมถึงเป็นปูนเปลือย ถ้ามันไม่สวยมันใช่ประเด็นไหม นี่เป็นประเด็นของฉากหลัง” นายปดิพัทธ์ กล่าว.-319.-สำนักข่าวไทย