กรุงเทพฯ 17 เม.ย.-ทีวีดิจิทัล-โทรคมนาคม ยื่นใช้สิทธิ์ ม.44 ภายใน 10 พฤษภาคมนี้ ด้าน ครม.เห็นชอบร่างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลมาชี้แจงถึงมาตรา 44 ที่ คสช. ออกประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล เพื่อให้เดินหน้าพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้เกิด 5G ในประเทศไทย โดยเร็ว ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มทุกภาคส่วน 2.3 ล้านล้านบาทในปี 2578 โดย เนื้อหาของ ม.44 คือให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทั้งดีแทค ทรู เอไอเอส สามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz โดยต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในเดือนมิถุนายนนี้ และทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะต้องทำหนังสือยื่นขอรับสิทธิ์มายัง กสทช.ภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ หากผู้ประกอบการไม่พอใจเงื่อนไขก็สามารถยกเลิกหนังสือขอรับสิทธิ์ได้เช่นกัน
ส่วนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 700 MHz และเงื่อนไขการได้รับเงินเยียวยาทีวีดิจิทัล คาดว่าจะสามารถเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในเดือนมิถุนายนนี้ จะไม่ใช่การประมูล แต่จะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 25,000 -27,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาต จำนวน 15 MHz เมื่อรวม 3 ค่าย ก็จะเป็นเงินประมาณ 75,000 ล้านบาท
มีการคาดการณ์กันว่า ผู้ประกอบการจะขอยื่นหนังสือขอรับสิทธิ์ จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขการเยียวยาอีกครั้งหนึ่งว่าพอใจหรือไม่ เช่น นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท กล่าวว่าจะเสนอบอร์ด 23 เมษายนนี้ และบริษัทอาจจะส่งหนังสือแสดงความจำนงให้ กสทช.ก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขอีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการโทรคมนาคม ดีแทค ระบุว่าการส่งจดหมายการขอรับสิทธิ์สามารถยื่นได้ก่อน หากเงื่อนไขการประมูลไม่เป็นไปตามที่ต้องการดีแทคก็สามารถยกเลิกหนังสือแจ้งโดยดีแทคมองว่าราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยสูงเกินไป ดีแทคจะหารือกับทาง กสทช. เพื่อความชัดเจน ด้านค่ายเอไอเอส ก็จะส่งจดหมายยื่นความจำนงขอใช้สิทธิ์ไปก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขว่าจะเข้าร่วมขอคลื่น 700 MHz หรือไม่ โดยมองว่ากำหนดวันยื่นจัดสรรคลื่นในเดือนมิถุนายน เป็นเวลาที่สั้นเกินไป และต้องดูว่าภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ 5G มีความตื่นตัวหรือไม่ การจ่ายค่าประมูลเร็วเกินไปอาจเท่ากับเป็นการจ่ายเปล่าก็ได้ ขณะที่ค่ายทรู มองว่าการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งที่ผ่านมาบริษัทยังไม่คุ้มทุน มูลค่าของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมลดลงกว่า 4 แสนล้านบาท เรื่อง ม.44 ก็เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นการตัดสินใจจะเป็นอย่างไรจึงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท
การประชุม ครม.วันนี้มีหลายเรื่องใหญ่ เรื่องแรก เห็นชอบโครงการก่อสร้างทางวิ่ง หรือรันเวย์เส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 21,795.94 ล้านบาท จะมีศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ 30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากปัจจุบัน 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยโครงการนี้จะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรืออีเอชไอเอ ให้เรียบร้อย โดยกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2562 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
และในด้านสิ่งแวดล้อม ครม.เห็นชอบโรดแมป แผนการจัดการขยะพลาสติกปี 2561 – 2573 โดยตั้งเป้าลดใช้พลาสติก 7 ชนิดภายในปี 65 และรีไซเคิลขยะพลาสติกได้ 100% ภายในปี 2570 แผนนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ และเป็นแผนบูรณาการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกเป้าหมายที่ 1 ได้แก่ การลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ 1.เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิดในปี 2562 ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ (OXO) ได้แก่ สารที่มีส่วนผสมของพืชและมีน้ำมันปิโตรเคมีในกระบวนการผลิตในกระบวนการผลิต ไมโครบีด (Microbead) พลาสติกประเภทสารโพเอทิลีนขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรหรือเล็กกว่าเม็ดทราย ซึ่งกำจัดได้ยากมาก และ 2.เลิกใช้พลาสติกภายในปี 2565 จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ พลาสติกประเภทหูหิ้วขนาดความหนา 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก และหลอดดูดพลาสติก ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และเด็ก ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 โดยจะมีการศึกษาและกำหนดประโยชน์และส่วนที่เป็นประโยชน์กลับมาใช้ประโยชน์ หรือนำไปจัดการขยะเพื่อเป็นพลังงาน.-สำนักข่าวไทย