วธ.10 เม.ย.-ครม.เห็นชอบชง ‘เมืองโบราณศรีเทพ-กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด’ บรรจุเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น เร่งส่งเอกสารศูนย์มรดกโลกภายในเดือนเม.ย.นี้ จ่อเข้าสู่การพิจารณาบอร์ดมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 42 เดือน มิ.ย.62 ณ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้(9เม.ย.)ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น(Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ 2 แหล่ง ได้แก่ 1.เมืองโบราณศรีเทพ ภายใต้ชื่อThe Ancient Town of Si Thep 2.กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด ภายใต้ชื่อ Ensemble of Phanom Rung, Muang Tam and Plai Bat Sanctuaries เนื่องจากตามอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กำหนดให้รัฐภาคีนำเสนอเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้นและจัดส่งเอกสารเสนอต่อศูนย์มรดกโลก ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในกลางเดือนเมษายน 2562 ให้ทันต่อการเสนอคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่42 วันที่ 30 มิ.ย.– 10ก.ค.2562 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยขั้นตอนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทั้ง2 แหล่ง ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
สำหรับเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นรอยต่อทางวัฒนธรรมสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ “แอ่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก”และเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนกับ “แอ่งอารยธรรมอีสาน” เป็นจุดเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนสินค้าและเส้นทางการค้าพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อ เนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณและอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาแบบทวารวดีจากภาคกลางไทยและวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาแบบมหายาน จึงมีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์แสดงออกถึงภูมิปัญญาความรู้และความเชี่ยวชาญฝีมือช่างที่พัฒนาขึ้นจนมีรูปแบบเฉพาะของตนเอง เรียกว่า “สกุลช่างศรีเทพ”
ดังนั้น สอดคล้องกับเกณฑ์ยูเนสโก 2 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่2 เมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้ง อันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาคที่มีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมรโบราณ และเกณฑ์ที่3เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่นในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทยแสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาทมหายานและศาสนาฮินดูจนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง นอกจากนี้ได้ศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและโบราณสถานต่าง ๆ ได้แก่ ศาสนสถานมีเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนสถานในภาคกลางของเวียดนาม กลุ่มเมืองโบราณปยุ เมียนมา และแหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุก กัมพูชา
ขณะที่กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์ มีโบราณสถาน 3 แห่ง (1) ปราสาทพนมรุ้ง เป็นปราสาทหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาใกล้กับปล่องของภูเขาไฟเก่าที่ดับแล้วในแนวเทือกเขาพนมดงรักอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก สร้างเพื่อเป็นเทวาลัยของพระศิวะลัทธิไศวนิกายเสมือนเป็นที่ประทับบนยอดเขาไกรลาศ และดึงประโยชน์จากชัยภูมิที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เข้ากับคติทางศาสนาด้วยภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมและดาราศาสตร์วางช่องประตูให้ตั้งตรงกันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกรวม 15 ช่องประตู เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตูส่องกระทบศิวลึงค์ที่ตั้งเป็นประธานอยู่ในห้องกลางของปราสาทจำนวน 4 ครั้ง ใน1 ปี
(2) ปราสาทเมืองต่ำ เทวสถานลัทธิไศวะนิกาย ตั้งอยู่บนที่ราบห่างจากเขาพนมรุ้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 4 กิโลเมตร เป็นปราสาทที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านการวางผังที่สวยงาม สมดุลและมีลวดลายภาพสลักที่งดงามประณีต
(3) ปราสาทเขาปลายบัด 1 และ 2 อยู่บนเขาปลายบัด เป็นภูเขาไฟลูกโดดที่ดับแล้วเช่นเดียวกับเขาพนมรุ้ง มีฉนวนทางเดินทอดยาวมาทางทิศตะวันออกและมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เชิงเขาในลักษณะเดียวกับปราสาทพนมรุ้งและจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่า ตัวปราสาทปลายบัด 1 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับปรางค์น้อยที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง
ดังนั้น มีความโดดเด่นสอดคล้องกับเกณฑ์ของยูเนสโก 3 เกณฑ์ ได้แก่ (1) หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นประจักษ์พยานเพียงหนึ่งเดียวหรืออย่างน้อยมีลักษณะพิเศษของการสืบทอดทางวัฒนธรรมหรือของอารยธรรมที่ดำรงต่อเนื่องอยู่หรือที่สูญหายไปแล้ว (2) หลักเกณฑ์ที่ 4 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างกลุ่มสถาปัตยกรรมหรือกลุ่มเทคโนโลยีหรือลักษณะภูมิประเทศของภูมิทัศน์ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ (3) หลักเกณฑ์ที่ 5 เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การใช้พื้นที่ทั้งทางบกและทางทะเลซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหรือปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา.-สำนักข่าวไทย