กรุงทพฯ 26 ส.ค. – นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับปรุงค่าความร้อนเพื่อรับก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ที่ตามแผนจะเพิ่มขึ้น หลังก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลงและรองรับกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นไปตามแผน
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ตามสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ของเชฟรอนและบงกชทั้ง 2 รายมีสิทธิเจรจา บมจ.ปตท.ในการลดปริมาณการผลิตก๊าซฯ ลงได้ในช่วง 5 ปีสุดท้ายของสัญญา (ปี 61-65 ) ขณะนี้ ทั้ง 2 รายได้ส่งหนังสือเจรจาไปยัง ปตท.ในฐานะผู้รับซื้อก๊าซแล้ว โดยตามสิทธิ์ทางผู้ผลิตสามารถลดกำลังผลิตลงได้ แต่หากคงกำลังก็สามารถปรับเพิ่มราคาได้ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ขอให้ ปตท.ชะลอเจรจาไว้ก่อนเพื่อที่จะประเมินความต้องการใช้ก๊าซฯ ใหม่ทั้งหมด โดยดูว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2015 ปี 2558-2579 ) หรือไม่ การผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศเป็นไปตามแผนหรือไม่ ก่อนจะกลับไปเจรจาอีกครั้ง และต้องปรับแผนบริหารจัดการก๊าซใหม่ (Gas Plan 2015 ) เพราะตามแผนปี 2579ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีร้อยละ 75 ของความต้องการก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะมีประมาณ 4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“คาด 2 แหล่งนี้เมื่อเอกชนไม่รู้ว่าจะชนะประมูลต่อหรือไม่ ก็จะหยุดการลงทุนจากปัจจุบันผลิตรวม 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะลดลงร้อยละ 40 ต่อปี และกำลังทำแผน by pass การใช้ก๊าซจะลดลงเหลือ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2562 และสมมติฐานที่สามารถจัดหาผู้รับสัมปทานได้ในปี 2565 และทำให้ก๊าซกลับมาอยู่ระดับเดิมได้ภายใน 3 ปีปริมาณก๊าซฯ ปี 2561-2568 จะหายไป 3.045 ล้านลูกบาศก์ฟุต ก็ต้องทำให้เราต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้น จึงต้องหามาตรการต่าง ๆ มารองรับทั้งเร่งสร้างคลังและปรับค่าความร้อนโรงไฟฟ้าต่าง ๆ รองรับแอลเอ็นจี ที่มีค่าความร้อนสูง” นายวีระศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย