กรุงเทพฯ3 เม.ย. – กฎหมายใหม่ส่งผลให้ไออาร์พีซีตั้งสำรองเพิ่มในส่วนแรงงาน 760 ล้านบาท ภาษีที่ดินอีก 100 ล้านบาทต่อปี และกลุ่ม ปตท.ศึกษาร่วมผลิตเอทิลีนโรงใหม่
บมจ.ไออาร์พีซีมีที่ดินที่ยังไม่พัฒนาประมาณ 2,000 ไร่ ในส่วนนี้มีการชี้แจงต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี กล่าวว่า หากบริษัทยังไม่มีการพัฒนาที่ดินก็อาจทำให้ต้องมีภาระภาษีประมาณ 100 ล้านบาท/ปี จากการที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมีผลบังคับใช้ในปี2563 ส่วนการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่มีจำนวนวันจ่ายเงินพนักงานเกษียณเพิ่มจาก 300 วัน เป็น 400 วัน ทางไออาร์พีซีได้ตั้งสำรองส่วนนี้เพิ่มขึ้น 760 ล้านบาทในปีนี้ จากที่มีพนักงานรวม 5,100 คน
ส่วนกรณีพิพาททางกฎหมายกับชุมชนในโครงการส่วนขยายเขตประกอบการไออาร์พีซี จังหวัดระยองนั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งหากไม่เป็นไปดังคาดก็อาจจะกระทบต่อโครงการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนบริษัทฯ 5 ปี (2562-2566) รวมทั้งสิ้นประมาณ 105,000 ล้านบาท แยกเป็นโครงการลงทุนที่มีความชัดเจนแล้ว 71,000 ล้านบาท โครงการหลัก คือ Maximum Aromatics (MARS) มูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 300,000-500,000 ตันต่อปี ขณะนี้กำลังทบทวนโครงการ โดยส่วนหนึ่งดูเรื่องภาวะตลาดและจะประกาศการตัดสินใจได้ในไตรมาส 2/2562 จากเดิมคาดว่าจะเสร็จปี 2566 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) โครงการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ประมาณ 8,000 ล้านบาท โครงการซ่อมบำรุงต่าง ๆ 15,000 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนอีก 34,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนในโครงการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โครงการเอทิลีนในกลุ่ม ปตท.ที่อาจจะใช้แนฟทาทั้งจากไออาร์พีซี จากโครงการ CFP ของ บมจ.ไทยออยล์, การซื้อกิจการ (M&A) ในสายโซ่อุปทานหรือValue chain ในธุรกิจต่อเนื่อง
สำหรับโครงการ Mars คาดจะมีผลตอบแทนการลงทุนร้อยละ 14-16 ทำให้ได้ผลผลิตปิโตรเคมีเพิ่มจากร้อยละ17 เป็นร้อยละ 27ทำให้นำแนฟทาที่ส่งออก 30,000 ตัน/ปีมาใช้เป็นวัตถุดิบ และส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายนพดล กล่าวอีกว่า บริษัทได้มีการลงทุนปรับปรุงระบบท่อเพิ่มประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อรองรับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งจะสามารถได้ผลผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำออกมาในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ โดยคาดว่าในส่วนนี้จะสร้างผลตอบแทนกลับมาบริษัทในช่วงหลาย ๆ ปีประมาณปีละ 170 ล้านบาท หรือทำให้กำไรภาพรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7-1.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ซึ่งรวมผลกระทบจากสตอกน้ำมันไตรมาส 1/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 11-12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าระดับ 6.58 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาส 4/2561 หลังคาดว่าจะมีกำไรจากสตอกน้ำมันหลังราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปิดสิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ 67 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าราคาปิดสิ้นปี 2561 ขณะที่ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบทั้งปีนี้จะแกว่งตัวระดับ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก.- สำนักข่าวไทย