กรุงเทพฯ 12 ก.ค – กลุ่ม ปตท.ตั้งทีม Quantum พัฒนาพลังร่วมปิโตรเคมีขั้นปลาย ไออาร์พีซีจับมือธุรกิจก๊าซฯ จัดทำโซลูชั่นโพรวายเดอร์ ลูกค้าอุตฯ ก๊าซ ลั่นพัฒนาพื้นที่ “จะนะ” แล้วแต่ภาครัฐ
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC หนึ่งในธุรกิจปิโตรเคมีเครือ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ได้จัดตั้งทีม Quantum ขึ้นมาศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกัน (synergy) ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) โดยมีนายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.เป็นหัวหน้าทีมฯซึ่งจะมาดูภาพรวม Synergy ทั้งด้านกลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินการ (Operation) และการจัดการ ( Organization) ให้บรรลุเป้าหมาย ลดการทำงาน การลงทุนที่ซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพร่วมกัน ลดต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของ IRPC ที่เลื่อนโครงการ Maximum Aromatics Project (MARS) ออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งแผนเดิมจะเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีน 1.1-1.3 ล้านตันต่อปี ทำให้เหลือแนฟทา (naphtha) ส่วนเกินที่ส่งออกประมาณ 500,000 ตันต่อปี ก็ต้องไปดูว่าจะสามารถไปต่อยอดความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.อย่างไร เช่น ร่วมมือกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีแผนจะจัดทำโครงการ Beyond CFP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังหารือกับทีมขายก๊าซฯ ปตท. เพื่อป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมจัดทำโซลูชั่นโพรวายเดอร์ในการนำเสนอขายลูกค้าอย่างไร
ล่าสุดบริษัทได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด และ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายตลาด โดยศึกษาพัฒนาเชื่อมต่อระบบขนส่งน้ำมันทางท่อจากโรงกลั่นน้ำมัน IRPC ไปสู่ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อของ Thappline เพื่อร่วมกันสร้างช่องทางขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมัน High Speed Diesel ตามมาตรฐาน Euro V และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Jet A1) โดยที่บริษัทไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเอง แต่จะเป็นการจ้างค่าบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นให้กับบริษัท หรือคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี จะเป็นการรองรับโครงการ ปรับปรุงโครงการตามมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเสร็จภายในปี 2566 ทำให้บริษัทมีช่องทางจำหน่ายน้ำมันในประเทศและรายได้ที่่เพิ่มขึ้น เพราะผลิตดีเซลกำมะถันต่ำทดแทนการผลิตดีเซลกำมะถันสูง ซึ่งมีสัดส่วน 50% ของกำลังผลิตและต้องส่งออกเป็นหลัก
“ความร่วมมือในกลุ่ม ปตท.ก็จะเป็นโซลูชั่นโพรวายเดอร์ว่าลูกค้าต้องการอะไร เราร่วมคิดและพัฒนาสินค้าด้วยกัน เช่น กรณีหากลูกค้าสนใจติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ไออาร์พีซี ก็มีเม็ดพลาสติกชนิด HDPE สำหรับจัดทำทุ่นลอยน้ำ เพื่อรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ซึ่งมีพื้นที่สระกักเก็บน้ำจำนวนมาก พร้อมที่จะรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ “นายนพดลกล่าว
ปัจจุบันโครงการโซลาร์ลอยน้ำในสระเก็บน้ำของ IRPC จ.ระยอง ที่มีอยู่ 5 บ่อ และดำเนินการติดตั้งไป 3 บ่อ กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ มีขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท และเปิดดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นโครงการศึกษาประสิทธิภาพการติดตั้งแผงโซลาร์ฯ บนทุ่นลอยน้ำที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิด HDPE ของบริษัท ด้วยเป็นเม็ดพลาสติกสีเทา ที่พบว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับเม็ดสีดำประมาณ 5-6% มีอายุการใช้งาน 25 ปี ซึ่งมั่นใจว่า จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งตลาดในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3 รายได้ โดยขณะนี้มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศหลายรายมาติดต่อเพื่อนำไปผลิต
นายนพดล กล่าวว่า ที่ดินของบริษัทนั้น ปัจจุบันยังมีที่ดินรวม 12,000 ไร่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยหลัก ๆจะเป็นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ประมาณกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งยังพิจารณาโครงการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว เช่น โครงการพัฒนาพลังงานสะอาด แต่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และอีกประมาณ 9,000 ไร่ อยู่ใน จ.ระยอง ซึ่งพื้นที่ไหนที่มีศักยภาพที่จะจัดตั้งการลงทุนบริษัทก็จะเข้าไปพัฒนาร่วมกับลูกค้า และพื้นที่ไหนไม่มีศักยภาพก็จะพิจารณาขาย โดยพื้นที่ในระยองเป็นพื้นที่เขตประกอบการอุตฯ ไออาร์พีซี ต.เชิงเนิน ประมาณ 6,000 ไร่ ในส่วนนี้มีพื้นที้เหลืออีก 1,000 ไร่ สำหรับรองรับขยายการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้.-สำนักข่าวไทย