วอชิงตัน 2 เม.ย.- องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซา (NASA) ตำหนิอินเดียที่ทดลองยิงดาวเทียมเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ทำให้เกิดเศษกระจัดกระจายในวงโคจรมากถึง 400 ชิ้น เป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศที่ประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส (ISS)
นายเจมส์หรือจิม บริเดนสทีน ผู้อำนวยการนาซาอธิบายให้พนักงานนาซาฟัง หลังจากอินเดียทดลองใช้ขีปนาวุธยิงดาวเทียมวงโคจรต่ำเมื่อห้าวันก่อนเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจอวกาศโลกว่า เศษที่กระจัดกระจายจากการยิงไม่สามารถติดตามได้หมดทุกชิ้น ชิ้นที่ติดตามได้ต้องมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป จึงติดตามได้เพียง 60 ชิ้นเท่านั้น ดาวเทียมอินเดียถูกยิงขณะโคจรค่อนข้างต่ำที่ระดับความสูง 180 กิโลเมตร ต่ำกว่าไอเอสเอสและดาวเทียมส่วนใหญ่ในวงโคจร แต่มีเศษ 24 ชิ้น ลอยอยู่เหนือระยะห่างเมื่อไอเอสเอสอยู่ที่จุดไกลโลกที่สุด เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ นาซาต้องการความชัดเจนว่าสิ่งที่มีผลกระทบต่อการทำงานของนาซาคืออะไร เพราะการทดลองของอินเดียทำให้ไอเอสเอสเสี่ยงถูกชนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 44 ในเวลา 10 วัน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงเหล่านี้จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปเพราะเศษส่วนใหญ่จะถูกเผาไหม้เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ
ปัจจุบันกองทัพสหรัฐติดตามวัตถุในอวกาศขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร ที่เสี่ยงจะชนไอเอสเอสและดาวเทียมอยู่ 23,000 ชิ้น เป็นขยะอวกาศ 10,000 ชิ้น ในจำนวนนี้เกือบ 3,000 ชิ้นเกิดขึ้นเมื่อจีนทดลองใช้ขีปนาวุธยิงดาวเทียมในปี 2550 ที่ระดับความสูง 848 กิโลเมตร.- สำนักข่าวไทย