กทม. 1 เม.ย.- หลายหน่วยงานภาครัฐระบุ ภัยแล้ง – การเมือง จะเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ครอบคลุมทั้งเรื่องราคาสินค้า และความเชื่อมั่นของประเทศ
ปัจจัยเรื่องผลกระทบภัยแล้ง ถือว่ามาเร็วกว่าทุกปี และจะมีช่วงเวลายานาน ล่าสุดวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุแล้วว่า ปัจจัยเรื่องภัยแล้งนี้ ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อแล้ว โดย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ยังคงขยายตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ร้อยละ 1.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2562 สูงขึ้นมาจากกลุ่มอาหารสด ผักสด ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้มีสินค้าเกษตรได้รับความเสียหายและออกสู่ตลาดน้อย จึงดึงให้ราคาดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
ผลการสำรวจสินค้าเดือนมีนาคม 422 รายการ มีสินค้าปรับสูงขึ้น 246 รายการ อาทิ เนื้อหมู มะนาว ข้าวสารเจ้า ไข่ไก่ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 83 รายการ ได้แก่ น้ำมันพืช กุ้งขาว กล้วยน้ำว้า และมีสินค้าลดลง 93 รายการ ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบในรอบ 4 เดือน หรือ สูงขึ้นร้อยละ 2.07
โดย สนค.คาดการณ์ว่า ภัยแล้งปีนี้มีแนวโน้มรุนแรงจะทำให้สินค้าเกษตรขาดตลาดและราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะมะนาว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี และผักชี ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อยละ 1.01 โดยมาจากกลุ่มพลังงาน ภัยแล้ง เทศกาลสงกรานต์ และการเปิดภาคเรียนใหม่ที่จะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7 โดยค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ภายใต้สมมติฐานคาดการณ์จีดีพีของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ราคาน้ำมันเฉลี่ย 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อีกปัจจัยที่คาดว่า จะมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง จากสงครามการค้า Brexit และการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีผลทำให้การส่งออกไทยขยายตัวชะลอลงโตร้อยละ 3 แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะรวดเร็วแค่ไหน หากจัดตั้งได้เร็ว ก็จะเป็นผลดีต่อการลงทุนให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็จะสานต่อโครงการลงทุน เพราะมีนโยบายเศรษฐกิจไม่ต่างกันและโครงการได้ประมูลจนเริ่มก่อสร้างแล้ว ส่วนในช่วงที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลนั้น เชื่อว่า รัฐบาลปัจจุบันยังมีอำนาจเต็มและมีเครื่องมือที่จะดูแลภาวะเศรษฐกิจได้
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของ ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน จะพิจารณา 3 ด้าน คือ เงินเฟ้อ เสถียรภาพเศรษฐกิจ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ถือเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ซึ่ง กนง.จะพิจารณาโดยดูข้อมูลรอบด้านและขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา ยอมรับมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้น โดยขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา.-สำนักข่าวไทย