กรุงเทพฯ 22 มี.ค. – อีอีซีโชว์ผลงาน 2 ปี ช่วยไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของเอเชียอีกครั้ง ยืนยัน 5 โครงการหลักลงนามกับเอกชนผู้ชนะประมูลเสร็จภายใน เม.ย.นี้ ตั้งเป้าลงทุน 5 ปี กว่า 1.5 ล้านล้านบาท สร้างงานปีละไม่น้อยกว่า 1 แสนอัตรา ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และลดการเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพฯ และประชาชนในอีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แถลงผลงาน 2 ปี โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ตามที่รัฐบาลเดินหน้าโครงการ อีอีซีพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้เป็นพื้นที่เป้าหมายขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นต้นแบบพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของเอเชียอีกครั้งหนึ่ง
“อีอีซี สามารถสร้างฐานการลงทุนขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจ การระดมทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงช่วยสร้างแรงผลักดันประเทศไทย ทำให้ทิศทางตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีความมั่นคง พร้อมจะนำคนไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีรายได้ที่ยั่งยืน มีความอยู่ดีกินดี รายได้สูงขึ้น” นายคณิศ กล่าว
นายคณิศ ย้ำถึงผลงานอีอีซี ว่า 2 ปีที่ผ่านมาผลการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เพราะสามารถดึงโครงการลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2560 อยู่ในระดับ 300,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 600,000 ล้านบาทในปี 2561 ช่วยให้อัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2559 เป็นประมาณร้อยละ 4.2 ในปี 2561 และการลงทุนเอกชนขยายตัวเป็นบวก 3 ปีต่อเนื่อง
สำหรับเป้าหมายปี 2562 จะเดินหน้าเร่งรัด 5 โครงการลงทุนหลัก ทำให้เกิดการลงทุนรวม 650,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการลงทุนปีละ 300,000 ล้านบาท รวมเป็น 1.5 ล้านล้านบาท โดยเป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เฉลี่ยปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท รวม 5 ปี 500,000 ล้านบาท สร้างงานปีละไม่น้อยกว่า 100,000 อัตรา รวมประมาณ 450,000 ตำแหน่งใน 5 ปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 2 และลดการเหลื่อมล้ำระหว่างคนกรุงเทพฯ และประชาชนในอีอีซี ที่สำคัญ คือ เป็นการปรับโครงสร้างประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างรายได้ และการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน
ทั้งนี้ อีอีซี ยังตั้งเป้าเพิ่มลงทุนยกระดับความสามารถดูแลประเทศด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการศึกษาประสานการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พัฒนาธุรกิจด้าน IoT และ start-up สานต่อการใช้การค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร เทคโนโลยี และการท่องเที่ยวคุณภาพเดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน การศึกษา งานวิจัยและเทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม (อากาศ น้ำ ของเสีย) ปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พลังงาน จัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษที่เป็นเขตเทคโนโลยี และ เมืองอัจฉริยะประสานงานให้ EECi และ EECd เป็นไปตามแผน วางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่แหลมฉบัง และเกาะสำคัญ (เกาะสีชัง เกาะช้าง เกาะเสม็ด) สร้างระบบการกำกับดูแลการพัฒนาของมหานครการบินภาคภาคตะวันออก สร้างประโยชน์ให้ถึงประชาชน และทำความเข้าใจกับชุมชนและประชาชนให้เกิดความความรู้และความร่วมมือที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม.-สำนักข่าวไทย