กทม. 13 มี.ค. – รัฐบาลย้ำส่งเสริมโซลาร์ภาคประชาชน เตรียมรับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วย ด้านนโยบายพรรคการเมืองเน้นปากท้อง หนุนพืชพลังงาน
ใกล้เลือกตั้ง 24 มีนาคม ช่วงนี้จะมีดีเบตหลากหลายนโยบายให้เห็นวันนี้มีเรื่องพลังงานและเรื่องเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลเองก็เร่งรัดการลงทุน ซึ่งกรณีผู้ที่หวังจะเห็นการซื้อขายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาราคาเบื้องต้นออกมาอยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย
วันนี้ กระทรวงพลังงาน ประชุมชี้แจงกับผู้ประกอบการติดแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผู้ประกอบการไทยมีประมาณ 30 ราย โดยบอกว่า ตามแผนส่งเสริมในแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี แผนใหม่ หรือ พีดีพี 2018 มีการรับส่งเสริมมากกว่าแผนเก่าถึง 5 เท่าตัว หรือ รวมประมาณ 12,725 เมกะวัตต์ โดยแยกเป็นโรงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอีก 2,725 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากหารเฉลี่ย ผู้ประกอบการติดตั้งก็มีโอกาสติดตั้งราว 400 เมกะวัตต์/ราย ดังนั้น จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งการเตรียมคนและการติดตั้งแผง ซึ่งจากราคาแผงที่ถูกลงร้อยละ 40 ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่แพงขึ้น
สำหรับโซลาร์ภาคประชาชนส่งเสริมการใช้เองเป็นหลัก แต่หากเหลือใช้ก็จะขายเข้าระบบ โดยราคารับซื้อจะต้องไม่แพงกว่าค้าส่งที่ 2.40 บาท/หน่วย ดังนั้น ตลาดใหม่ของการซื้อขายไฟฟ้าก็จะเกิดขึ้นผู้ประกอบการอาจจะรวบรวมไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปของครัวเรือน หรือ ของชุมชนเข้ามาขายในระบบซึ่งหากราคาต่ำกว่าขายส่งก็เป็นโอกาสที่จะขายได้แข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิล
สำหรับการนำร่องรับซื้อไฟฟ้าเหลือใช้จากโซลาร์ภาคประชาชน จะมีการนำร่องรับซื้อ 100 เมกะวัตต์/ปีเป็นเวลา 10 ปี เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สกพ.ศึกษาเตรียมประกาศให้สมัครจำหน่ายเดือน พ.ค.-ก.ค.62 โดยต้องผลิตขายภายในปีนี้ ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 1.68 บาทต่อหน่วยรับซื้อเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งผู้ขายตั้งติดตั้งมิเตอร์ระบบดิจิทัล 7,500 บาท คาดลงทุนสำหรับการผลิต 5 กิโลวัตต์ที่ประมาณ 100,005 บาท โดยคำนวณระยะเวลาคุ้มทุน หากผลิตใช้เองครึ่งหนึ่งและขายครึ่งหนึ่งก็จะคุ้มทุน ในประมาณเกือบ 8 ปี แต่หากผลิตเองและใช้เองทั้งหมดจะคุ้มทุน ในช่วง 5 ปี 6 เดือน เพราะคำนวณจากผลิตแล้วค่าไฟฟ้าถูกกว่าการซื้อจากระบบในอัตราค่าไฟฟ้า 3.80 บาท/หน่วย
ด้านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ โดยเน้นย้ำว่าช่วงนี้แม้จะเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ต้องการเห็นรัฐวิสาหกิจหยุดชะงักด้านการลงทุน โดยกิจกรรมรัฐวิสาหกิจไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 15 ล้านล้านบาทมากกว่าจีดีพีของประเทศ ที่ผ่านมาในปี 61 มีกำไรสูงถึง 4 ล้านล้านบาท โดยขอให้ดูแบบรัฐวิสาหกิจของจีน ที่ปรับเปลี่ยนองค์กรขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของเวทีโลกหลายราย นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจถูกมองว่าเป็นกลุ่มมีการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงต้องแก้ไขให้สังคมรับรู้มองเห็นชัดเจน ด้วยการสร้างระบบบริหารความเสี่ยงจากสิ่งไม่ถูกต้อง
และรัฐวิสาหกิจอันดับใหญ่ของไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันดับต้นๆ ก็คือ ปตท.วันนี้ ในเวทีดีเบต นโยบายพลังงาน ก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงเช่นกัน โดยมองกันว่าหลายพรรคการเมืองมองว่า องค์กรแห่งนี้ ควรจะต้องปรับปรุงการทำงาน เน้นสร้างภาพลักษณ์ที่มุ่งเน้นด้านความมั่นคง ช่วยดูแลราคาพลังงานให้ถูกลง และต้องช่วยส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ของประเทศ เป็นตัวหลักส่งเสริมพืชพลังงาน โดยพรรคภูมิใจไทย ที่ขณะนี้หลายคนเรียกพรรคกัญชา เสนอว่า ต้องส่งเสริมพืชพลังงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น ปตท.ต้องขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ต่อปีจนครบร้อยเปอร์เซ็นต์ใน 4 ปี และควรนำปาล์มมาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต้องตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตรึงแอลพีจีให้เหมาะสม พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาดูแลแหล่งปิโตรเลียม ลดราคาน้ำมัน 5 บาท ยกเลิกสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่ไม่เป็นธรรม ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ระบุไม่เห็นต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติหากมีปัญหาก็แก้ไขการกำกับดูแล เน้นขนส่งสาธารณะ, อาคารประหยัดพลังงาน และไม่เห็นด้วยอุดหนุนราคาพลังงาน พรรคพลังประชารัฐส่งเสริมกลไกตลาด, พลังงานทดแทน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนอีก 1 เวทีดีเบตเฉพาะด้านเศรษฐกิจมี 6 พรรคการเมือง โดยพรรคพลังประชารัฐ เน้นการพัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนแนวทางชุมชนจัดการตนเองเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ ประเทศไทยยั่งยืน ด้านพรรคเพื่อไทยกระจายอำนาจทั้งในเชิงภารกิจและทุน ตั้งเป้าจะยกระดับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มจากปีละ 40 ล้านคน เป็น 50 ล้านคน เพิ่มรายได้จาก 2 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท เพิ่มการจ้างงานด้านการท่องเที่ยวจาก 6.4 ล้านงาน ให้เป็น 8 ล้านงาน
พรรคอนาคตใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการคมนาคมขนส่งจากระบบถนน มาเป็นการใช้ระบบราง ทำให้เกิดการจ้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ทำลายทุนผูกขาดในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ด้วยการเปิดใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเพิ่มมากขึ้น
พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและสินค้าชุมชน ประกันรายได้เกษตรกร ผลักดันธุรกิจอาหารสู่การเป็นครัวโลก
พรรคภูมิใจไทย ย้ำนโยบายกัญชาเสรี และมุ่งมั่นที่จะลดอำนาจรัฐ เพื่อปากท้องประชาชน ด้วยการแก้กฎหมายต่าง พร้อมเสนอกตั้งกองทุนข้าว ให้มีระบบกำไรแบ่งปันกับชาวนา เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถหารายได้จากทรัพย์สินของตนเอง เช่น ขับ Grab ถูกกฎหมาย เป็นต้น
พรรคชาติพัฒนา เน้นภาคเกษตร นำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับในรูปแบบ “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” รวมถึงการจัดหาตลาดรับซื้อผลผลิตล่วงหน้า เพื่อทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้นในการผลิตพืชผลทางการเกษตร และผลักดันการท่องเที่ยวให้เป็นวาระแห่งชาติ .- สำนักข่าวไทย