กรุงเทพฯ9 มี.ค.-กสิกรไทย ประเมินบาท อาจอ่อนค่าลงอีก อาจแตะ 32 บาท/ดอลลาร์ สรอ. จับตาเงินทุนเคลื่อนย้าย –การเมือง กระทบดัชนีหุ้น
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (4-8 มี.ค.)เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ที่ 31.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ. ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ลดลงมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่า เงินบาทเริ่มชะลอลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับทิศทางก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ (8 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 31.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 มี.ค.)
ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,630.12 จุด ลดลง 0.69% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 23.12% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 40,708.00 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 1.41% มาปิดที่ 371.20 จุด สอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการที่ทางการจีนปรับลดเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงสู่ 6.0-6.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติตลอดสัปดาห์ แม้ว่าจะมีแรงหนุนเข้ามาในหุ้นกลุ่มธนาคารและพลังงานบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ก็ตาม
สำหรับทิศทางสัปดาห์ถัดไป (11-15 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,625 และ 1,610 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,640 และ 1,650 จุด ตามลำดับ ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.60-32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องจับตากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ และ ปัจจัยการเมืองในประเทศ ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การพิจารณาข้อตกลง BREXIT ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษโดยรัฐสภาอังกฤษ ความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เดือนม.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.-สำนักข่าวไทย